ถ้าให้ยกตัวอย่างกิจการผูกขาด ก็ได้แก่ โค้ก เซเว่น ฟาร์มเฮ้าส์ โอรีโอ้ Windows และอื่นๆ อีกมากมาย หากเราไปดูราคาหุ้นย้อนหลังของบริษัทเหล่านี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าราคามันวิ่งไปกว่า 10 เท่าทั้งนั้น
อย่างนั้นก็แปลว่าหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจผูกขาดก็ต้องเป็นหุ้นที่ดีน่ะสิ ! ใช่ครับ เป็นหุ้นที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะดีได้ตลอดไปนะ เพราะกิจการผูกขาดนั้นมัน "หลอกตา" นักลงทุนอย่างเราได้ง่ายมาก
แล้วอะไรบ้างล่ะที่เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับธุรกิจผูกขาด ? ถ้าให้ผมสรุปก็มีอยู่สองข้อใหญ่ๆ นะครับ
1. กิจการผูกขาดนั้นแข็งแกร่งมากจนไม่มีใครมาล้มได้
มองแบบคร่าวๆ มันก็สมเหตุสมผลที่จะไม่มีใครมาทำให้สั่นคลอนได้ เนื่องจากความผูกขาดด้านแบรนด์นั้นเป็นอะไรที่รุนแรงและทรงพลังมาก แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง "มาม่า" เบอร์ 1 ในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เรายังเรียกว่ามาม่าด้วยซ้ำ และ "ฟาร์มเฮ้าส์" เบอร์ 1 ในธุรกิจขนมปัง
ก่อนอื่นเรามาดูกราฟราคาหุ้นของทั้งสองตัวนี้ก่อนดีกว่า (ตัวย่อคือ TF และ PB)
เราจะเห็นว่ากราฟราคาหุ้นทั้งสองบริษัทนี้เพิ่มขึ้นมาสูงมากเลยทีเดียว หุ้น TF ขึ้นมาเกือบ 4 เท่านับตั้งแต่ปี 2551 และหุ้น PB เช่นกันที่พุ่งสูงขึ้นมากว่า 9 เท่า ซึ่งหากไปดูงบการเงินย้อนหลัง เราจะพบว่ากำไรของบริษัทสองแห่งนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็วมาก
แต่โลกนี้ไม่มีอะไรที่จีรัง หุ้น TF เองราคาค่อนข้างทรงตัวมาปีสองปีแล้ว (เผลอๆ มีแนวโน้มปรับตัวลงด้วย) เนื่องจากบริษัทกำลังสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้คู่แข่งอย่าง "ยำยำ" และ "นิสชิน" มากขึ้น ที่ไม่น่าเชื่อไปกว่านั้นก็คือ กำลังการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในบ้านเราลดลงด้วย !
ส่วนหุ้นฟาร์มเฮ้าส์ เมื่อตอนที่ผมลงทุนแรกๆ โดยส่วนตัวผมค่อนข้าง Bullish กับหุ้น PB เป็นพิเศษ เพราะใครๆ ก็กินขนมปังฟาร์มเฮ้าส์ แม้แต่เพลงโฆษณาของบริษัทเรายังร้องกันได้ (ฟาร์มเฮ้าสสดใหม่ทุกเช้า อร่อยถูกใจเราฟาร์มเฮ้าส์ๆ) ผมจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่านี่คือธุรกิจที่เป็น "ของตาย" และจะอยู่ได้ตลอดไป
แต่แล้วจุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 2555 ที่ "เลอแปง" ถือกำเนิดขึ้นมา ใครๆ ก็รู้ว่าเลอแปงเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของฟาร์มเฮ้าส์ และอย่างที่ทุกท่านทราบ ฟาร์มเฮ้าส์มีช่องทางการขายผ่านเซเว่นมากที่สุด ใครกันล่ะที่เป็นเจ้าของเลอแปง ?
ก็เซเว่นนั่นเองครับท่านผู้ชม ! หากท่านผู้อ่านลองเดินเข้าไปเซเว่นในสาขาที่ใกล้ที่สุด เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าขนมปังเลอแปงนั้นตั้งอยู่อย่างเด่นชัดมาก (เดินชนได้เลย) ในขณะที่ฟาร์มเฮ้าส์นั้น ถ้าไม่อยู่ด้านหลังเลอแปงก็อาจจะอยู่ด้านล่างจนต้องก้มหยิบ และจุดนี้เองที่ทำให้กำไรของ PB หายวูบ รวมถึงราคาหุ้นด้วยเช่นกัน
2. กิจการผูกขาดนั้นเจ๋งมากจนแม้แต่ผู้บริหารแย่ๆ ก็ทำอะไรไม่ได้
ในกรณีนี้ผมเองยังไม่เคยเจอบริษัทผูกขาดที่เจ๊งเพราะผู้บริหารสักเท่าไหร่ (อาจเป็นเพราะผมเกิดไม่ทันก็ได้) แต่ถ้าในต่างประเทศ หากใครเคยอ่านหนังสือ Buffettology ที่เขียนโดย Marry Buffett อดีตลูกสะใภ้ของบัฟเฟตต์ ได้เล่าถึงกรณีศึกษาของ "โค้ก" ที่เคยเกือบล้มเพราะผู้บริหารมาแล้ว
โค้กเนี่ยนะจะเจ๊งได้ !? ใช่ครับ มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่โค้กได้เปลี่ยน CEO คนใหม่ ซึ่งซีอีโอเจ้าปัญหาคนนั้นเองที่ตัดสินใจเปลี่ยนรสชาติของโค้ก ! เพราะเขานั้นเชื่อในผลการวิจัยว่าโค้กแบบใหม่นี้จะทำให้คนติดใจมากขึ้น แต่แล้วผลลัพธ์กลับผิดคาด เกิดการขาดทุนอย่างมหาศาลใน Product ใหม่ จนทำให้โค้กต้องกลับมาขายสินค้ารสชาติเดิม จึงกอบกู้สถานการณ์ที่ย่ำแย่ให้กลับมาดีขึ้นได้
ถึงแม้ธุรกิจผูกขาดจะเป็นเหมือนกับ "ห่านทองคำ" ที่ออกไข่มาอย่างสม่ำเสมอและไม่มีทีท่าว่าห่านตัวไหนจะมาแทนได้ แต่ห่านมันก็แก่เป็นและตายในที่สุด กิจการผูกขาดก็เช่นกันครับ ถึงจุดนึงธุรกิจที่เคยรุ่งโรจน์เหล่านั้นก็ต้องกลับมารุ่งริ่ง เพราะนี่คือวัฏจักร และมันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปด้วย
บางทีการปรับตัวให้เข้ากับแต่ละสถานการณ์ น่าจะเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีที่สุดแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น