20 ตุลาคม 2558

ทำไม P/BV จึงสะท้อนมูลค่าได้ดีกว่า PE

PE หรือราคาเทียบกับกำไรต่อหุ้น เป็นหนึ่งในอัตราส่วนทางการเงินยอดนิยมที่นักลงทุนมักใช้กันบ่อยๆ เนื่องจากมันเป็นค่าที่หาได้ง่าย สะดวกในการใช้ รวมถึง "วิเคราะห์ตามตำรา" ได้ง่ายที่สุดอีกด้วย โดยการดูตามตำราในที่นี้ก็คือ หุ้นตัวไหนมี PE สูง จะเป็นหุ้นที่แพง และหุ้นตัวไหนที่ PE ต่ำ จะเป็นหุ้นที่ถูก

ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ในบางเวลานั้นค่า PE เพียงอย่างเดียวก็สามารถวิเคราะห์หุ้นได้อย่างเฉียบขาดและทำเงินจากมันได้ อย่างเช่นในปี 2008 ที่หุ้นหลายตัวต่างก็มี PE ต่ำทั้งนั้น และราคาก็พุ่งขึ้นสูงหลายร้อย % ในปัจจุบัน บางตัวอาจถึงขั้นเป็น "หุ้นสิบเด้ง" ตามแบบฉบับของ ปีเตอร์ ลินช์ ด้วยซ้ำไป

แต่อย่างที่ทุกท่านทราบ ด้วยภาวะตลาดในปัจจุบันที่ผันผวนและคาดเดาไม่ได้ บางครั้งค่า PE ก็อาจจะเอาไม่อยู่ จึงจำเป็นต้องดูเพิ่มอีกหนึ่งอัตราส่วนที่สำคัญแต่ไม่ค่อยมีคนใช้นัก นั่นคือ P/BV


P/BV หรือราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชี มีสูตรในการคำนวณคล้ายกับ PE แต่จะเปลี่ยนจาก E (Earning per Shares) มาเป็น BV (Book Value) แทน และวิธีการดูอย่างง่ายที่สุดก็คือ หุ้นตัวไหนมีค่า P/BV สูง นั่นคือหุ้นที่แพง และตัวไหนค่า P/BV ต่ำ นั่นคือหุ้นที่ถูก

ถึงแม้จะคล้ายกับการดูค่า PE ราวกับแกะ แต่ในด้านของ "ความปลอดภัย" จากการดูนั้น P/BV มีสูงกว่ามาก เพราะสำหรับค่า PE ตัว E ซึ่งเป็นกำไรต่อหุ้นมันสามารถ "ดิ้นได้" ความหมายคือในบางปีที่บริษัทมีกำไรพิเศษ ค่า PE ก็จะต่ำ (เพราะ E สูงขึ้น) ทำให้หุ้นตัวนั้นเป็นหุ้นที่ถูกโดยปริยาย แต่หากในปีต่อมากำไรของกิจการกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หุ้นตัวนั้นจะดูแพงขึ้นทันทีเพราะ E ลดลง

หรือกรณีสุดคลาสสิคอย่าง BDMS ก่อนหน้าที่หุ้นโรงพยาบาลจะเป็นที่นิยมนั้น BDMS ก็มี PE สูงถึง 30-40 เท่าอยู่แล้ว หากนักลงทุนคนใดก็ตามใช้ค่าพีอีในการเลือกหุ้นอาจจำเป็นต้องทิ้ง "ไข่ทองคำ" ฟองนี้ไปอย่างน่าเสียดาย


แต่สำหรับ P/BV ซึ่งตัวหารเป็น "มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น"นั้นมีความผันผวนน้อยกว่ากำไรสุทธิอย่างมาก เพราะมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นนั้นคำนวณมาจาก "ส่วนผู้ถือหุ้น หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด" และแน่นอนว่าเราแทบไม่เคยเห็นกิจการไหนที่มีส่วนทุนขึ้นๆ ลงๆ เป็นแน่ และค่า P/BV มันยังสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (อาจจะ) ดีกว่า PE ด้วย เนื่องจากมันขึ้นอยู่กับส่วนทุนที่มีอยู่จริงๆ และไม่ได้หวือหวาจนคาดเดาไม่ได้

แต่การดู P/BV มีสิ่งที่ต้องระวังอยู่หนึ่งอย่าง แม้หุ้นตัวไหนที่มีค่านี้ต่ำจะเป็นหุ้นที่ถูกและน่าลงทุนกว่า แต่สำหรับหุ้นบางตัวที่มี P/BV ต่ำกว่าหนึ่ง (ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี แปลว่าหากอยู่ดีๆ กิจการเจ๊งขึ้นมาจนต้องปิดบริษัท เราก็ยังได้กำไรเพราะมูลค่าตามบัญชีที่สูงกว่าราคาหุ้นที่จ่ายนั่นเอง) เหมือนจะดูปลอดภัยและไร้ความเสี่ยง แต่คำถามสำคัญคือ หากเป็นกิจการที่ดีจริง เพราะอะไรค่า P/BV จึงติดลบ

ในสถานการณ์ปกติ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ P/BV จะต่ำกว่า 1 ในบริษัทที่ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ นั่นก็คือโดยมากแล้วหุ้นที่ P/BV น้อยกว่าหนึ่ง มักเป็นหุ้นของบริษัทที่ "ขาดทุนอย่างสม่ำเสมอ" แทน และความเสี่ยงของหุ้นที่ขาดทุนเสมอต้นเสมอปลายก็คือ ราคามันอาจลงต่อไปอีกก็ได้

แต่นั่นก็มีข้อยกเว้นอีกเช่นกัน มีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยลงทุนในหุ้นที่ P/BV ไม่ถึงหนึ่ง ด้วยสมมติฐานที่ว่าท้ายที่สุดแล้วราคาหุ้นจะต้องวิ่งไปหามูลค่าของมัน นั่นก็เป็นสไตล์การลงทุนอีกแบบที่น่าสนใจและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ เพียงแต่การคุมความเสี่ยงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หุ้นสิบตัวที่ P/BV ไม่ถึง 1 อาจมีเพียง 1-2 ตัวเท่านั้นที่ราคาจะวิ่งจนเกินกว่ามูลค่าตามบัญชีได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นค่า P/BV หรือ PE ต่างก็เป็นเพียงแค่ "เครื่องมือตัวนึง" ที่ใช้ยืนยันว่าหุ้นตัวนั้นแพงหรือถูก แต่ไม่ได้บ่งบอกว่านั่นคือหุ้นที่ดีหรือไม่ดี จำเป็นตัองใช้อย่างอื่นประกอบการพิจารณาด้วยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. plot PE หรือ PBV band
    เพราะเหตุใดหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เช่น BBL KBANK SCB หรือ KTB
    จึงถูกซื้อขายด้วย PBV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (Discount)
    ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก เช่น TISCO TCAP หรือ KKP ถูกซื้อขายด้วย
    PBV สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต (Premium) (Guideline:
    ต้องคิดว่าธนาคารขนาดเล็กมีอะไรดีกว่าธนาคารขนาดใหญ่

    ตอบลบ