2 ตุลาคม 2558

เมื่อหุ้นปันผลมีความเสี่ยง

ฟังแล้วอาจดูย้อนแย้งแบบแปลกๆ เพราะปกติแล้วสิ่งที่เราเรียกว่าเงินปันผลนั้น โดยมากแล้วกิจการที่จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ มักจะมีความมั่นคงอยู่ในระดับนึงพอสมควร ยิ่งสำหรับหุ้นตัวใดก็ตามที่มี Dividend Yield สูงๆ มันอาจกลายเป็น "ส้มหล่น" ให้นักลงทุนเข้าไปเก็บเกี่ยวได้อย่างง่ายดาย


ถ้าอย่างนั้นเราลองมาคิดอีกนิดดีกว่า ทำไมหุ้นตัวนึงถึงมี Dividend Yield สูงๆ ได้ล่ะ หากมันเป็นของดีมีคุณภาพจริง ส้มหล่นที่ว่ามันจะมาถึงมือเราง่ายๆ เลยเหรอ ? หรือมันอาจกลายเป็น "ส้มเน่า" ไปแล้วกันแน่นะ



ข้อดีของหุ้นปันผลสูงนั้น คร่าวๆ ก็คือ มันเป็นเครื่องมือสร้างกระแสเงินสดได้ดีเยี่ยม และโดยมากแล้วกิจการเหล่านั้นมักจะมั่นคงพอสมควร ส่วนรายละเอียดแบบเจาะลึก ผมว่าผู้อ่านสามารถหาได้อีกมากมายตามหนังสือหรือในอินเตอร์เน็ต.. แล้วข้อเสียล่ะ ข้อเสียของหุ้นจ่ายปันผลสูงนั้นมีอะไรบ้าง ? ที่ผมสรุปได้ก็มีอยู่สามข้อครับ



1. มันอาจจ่ายปันผลสูงแค่ชั่วคราว


ใครที่เคยใช้โปรแกรมสแกนหุ้นปันผล บางครั้งอาจเจอผลลัพธ์ที่น่าตกใจหลังจากที่สแกน อย่างเช่น.. หุ้น XXX มี Dividend Yield ถึง 15% ! ถ้าเราเห็นแค่นี้แล้วบอกกับตัวเองว่า "เฮ้ นายควร All-in กับหุ้นตัวนี้นะ" นั่นแปลว่าเราอาจซื้อหุ้นที่ดูเหมือนไม่เสี่ยงในแบบที่เสี่ยงมโหฬาร


เพราะการที่หุ้นตัวนึงจ่ายปันผลสูงในปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่ามันจะจ่ายหนักแบบนั้นอีกในอนาคตนะครับ บางทีปีนั้นกิจการอาจมีกำไรพิเศษก็ได้ ดังนั้นหากเราเข้าไปซื้อโดยไม่วิเคราะห์อะไรเพิ่ม มันก็คงเป็นการเจ็บตัวโดยใช่เหตุ



ภาพผลกำไรย้อนหลังจากโปรแกรมหุ้นที่เจ๋งที่สุดอย่าง Market Anyware

แต่ปัญหานี้แก้ง่ายครับ เราก็เพียงแค่ดูงบการเงินย้อนหลังไปสัก 3-5 ปี ว่ารายได้และกำไรของกิจการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอรึเปล่า งบดุลแข็งแกร่งพอมั้ย เพียงเท่านี้เราก็จะหลีกหนีหุ้นที่ "ดีชั่วคราว แย่ชั่วโคตร" ได้แล้ว


2. บริษัทถึงจุดอิ่มตัวจนไม่รู้จะลงทุนอะไรเพิ่ม


ก็เลยจ่ายเงินให้ผู้ถือหุ้นเอาไปใช้เลย ! เหมือนจะดีนะครับที่อยู่ดีๆ เราก็มีเงินใช้ แต่นั่นอาจไม่ต่างอะไรกับการเลี้ยงไข้แล้วปล่อยให้ตายอย่างทรมานเลยนะครับ เพราะถ้าบริษัทไม่มีความสามารถพอที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อขยายกิจการ ท้ายที่สุดแล้วเงินปันผลมันก็ต้องลดลงตามกำไรที่หายไปด้วยในอนาคต


แล้วทำไมการลงทุนของบริษัทถึงมีความสำคัญขนาดนั้นล่ะ สมมตินะครับ บริษัทแห่งนึงทำธุรกิจเกี่ยวกับค้าปลีก หากในวันนี้บริษัทที่ว่ามีสาขาอยู่ 500 สาขา และเป็นอันดับ 1 ของประเทศในด้านนี้ ถ้าอยู่ดีๆ ผู้บริหารเกิดบอกขึ้นมาว่า "อืม.. เราก็เป็นเบอร์หนึ่งอยู่แล้ว จะลงทุนให้เหนื่อยไปทำไมกันนะ" นั่นแหละครับที่หายนะจะเกิด เพราะคู่แข่งเบอร์ 2,3,4 จะลงทุนอย่างหนักหน่วงจนแย่งชิงตลาดได้ในที่สุด



แถมปัญหาคือ ข้อนี้เป็นอะไรที่ตรวจสอบยากซะด้วยสิ (คงไม่มีผู้บริหารคนไหนประกาศออกสื่อว่าเราจะอยู่เฉยๆ หรอกครับ) มีหลายกิจการที่งบการเงินย้อนหลังนั้นสวยงามไร้ที่ติ แต่ยังไงอดีตก็คืออดีต มันบอกเราไม่ได้หรอกว่าในอนาคตผู้บริหารจะยังมีความสามารถพอที่จะทำให้กำไรโตเหมือนที่ผ่านมาได้หรือไม่ แต่ถ้านักลงทุนต้องการตรวจสอบจริงๆ งบกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมการลงทุน และงบ CAPEX อาจพอบอกได้ครับ


3. ดีไม่ดีอาจเป็นการเรียกแขก


ข้อนี่ค่อนข้างจะต่อเนื่องกับข้อที่แล้ว เพราะหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูงนั้นย่อมเป็นที่ต้องการของตลาด จนบางครั้งอาจทำให้นักลงทุนละเลยที่จะใส่ใจในคุณภาพของกิจการก็ได้ สุดท้ายกว่าจะรู้ตัว ราคาหุ้นอาจลงเหวไปแล้ว รวมถึงปันผลที่เคยได้รับก็อาจไม่มีอีกแล้วก็ได้


นี่คือข้อเสียทั้งสามข้อของหุ้นที่จ่ายปันผลสูงๆ ในมุมมองของผมนะครับ ในโลกความเป็นจริงแล้ว มีหุ้นหลายตัวเหมือนกันที่จ่ายปันผลเยอะ + เป็นกิจการที่ดี เพียงแต่ว่าของดีเหล่านี้ไม่ได้มาบ่อยๆ ก็เท่านั้นเอง (อย่างเช่น ตอนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ) ถ้าหากนักลงทุนคนไหนที่ต้องการเงินปันผลแบบมั่นคงในปัจจุบัน ก็อาจต้องชั่งใจพอสมควรนะครับ ว่าเงินที่เราจ่ายไป มันคุ้มค่ากับ “ความมั่นคง” และ “ความมั่งคั่ง” ที่ได้รับจากหุ้นตัวนี้หรือไม่


เพราะคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน คือการจ่าย.. ในราคาที่เหมาะสมกับมูลค่าที่ได้รับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น