26 กันยายน 2558

ต่อจากกระทู้ยกเครื่องการบินไทย : เหตุไฉนธุรกิจสายการบินจึงอยู่ยาก ?

หลังจากที่บทความ "6 กลยุทธ์กับการยกเครื่องครั้งใหญ่ของการบินไทย" ที่เพิ่งลงในแฟนเพจ Stock2Morrow เมื่อวันสองวันก่อนได้รับกระแสตอบรับดีพอควร (ย้อนไปอ่านได้ที่ http://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=276สิ่งแรกที่ผมรู้สึกก็คือ CEO อย่างคุณจรัมพรนั้นค่อนข้างเอาจริงเอาจังกับแผนฟื้นฟูนี้มาก (ถึงขั้นกำหนดเลยว่าจะกู้วิกฤติให้ได้ใน 2 ปี) แม้แผนทั้ง 6 ข้อจะฟังดูยากสักนิด แต่ใครเล่าจะไปรู้ หุ้น THAI อาจเป็นหุ้นพื้นฐานดีในอนาคตก็ได้

จะว่าไปแล้วการบินไทยนั้นไม่ใช่สายการบินแรกที่มีปัญหาในการดำเนินงานครับ มีหลายสายการบินทั่วโลกที่เคยประสบปัญหากันมาก่อนหน้านั้นแล้ว อย่างเช่นการขาดทุนอย่างหนักหน่วง หรือแม้กระทั่งปิดกิจการก็มี (หนึ่งในนั้นคือPanAm อดีตสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และปัจจุบันก็เจ๊งเป็นที่เรียบร้อย) 




Click image for larger version

Name: 028.jpg
Views: 1
Size: 185.2 กิโลไบต์
ID: 214930



แต่นั่นคือสิ่งที่น่าสนใจครับ หากเรามองแบบคร่าวๆ ธุรกิจสายการบินนั้นมีคนใช้บริการตลอด แถมค่าตั๋วก็แพงใช่ย่อย เครื่องบินก็ซื้อใหม่เรื่อยๆ มันน่าคิดเหมือนกันว่าธุรกิจที่แสนจะยิ่งใหญ่นี้จะประสบปัญหาจนล้มได้ยังไงกันนะ ?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับธุรกิจการบินกันสักนิด แม้ภายนอกแล้วธุรกิจนี้จะดูยิ่งใหญ่และอลังมากๆ แต่นี่ก็คือธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งนั่นเอง ดังนั้นต้นทุนที่สายการบินต้องแบกรับก็คือ "น้ำมัน" ครับ และสาเหตุแรกที่ทำให้ธุรกิจสายการบินประสบปัญหาได้มันเกิดจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงที่ผันผวน หากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการไม่สามารถประกันความเสี่ยงได้ดีพอ (ประกันความเสี่ยงในที่นี้คือการซื้อหรือขายสัญญาน้ำมันล่วงหน้า) บริษัทก็อาจขาดทุนอย่างมหาศาลจากราคาเชื้อเพลิงได้

สาเหตุที่สอง นั่นคือต้นทุนการให้บริการต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าจ้างพนักงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายยักษ์ใหญ่อย่างค่าเครื่องบินและค่าบำรุงรักษาด้วย อย่าลืมว่าธุรกิจนี้ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ นั่นแปลว่าหากเครื่องบินมีปัญหาใดๆ แม้แต่นิดเดียวก็ตาม ก็จำเป็นต้องดูแลอย่างดีที่สุดครับ และนั่นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน




Click image for larger version

Name: 029.jpg
Views: 1
Size: 412.8 กิโลไบต์
ID: 214931



และสาเหตุสุดท้ายที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินนั้นเป็นสนามปราบเซียน มันมาจากสภาพของตัวธุรกิจเองที่ต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด สายการบินใดที่ค่าตั๋วแพงกว่ามันก็ยากที่จะอยู่รอด แต่ละบริษัทจึงต้องลดราคากันอย่างเมามันส์เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ ซึ่งสวนทางกับต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อรายได้ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายกลับบวมเป่งกว่าเดิม มันก็อาจนำไปสู่การขาดทุนในที่สุด

ทั้งสามสาเหตุที่ผมเล่ามานั้น เป็นมุมมองของนักลงทุนชื่อก้องโลกอย่าง Warren Buffett ที่ได้ถ่ายทอดลงในหนังสือBuffettology อันโด่งดัง บัฟเฟตต์เองมองว่าธุรกิจการบินนั้นเป็น "สินค้าโภคภัณฑ์" อย่างนึง แม้การเดินทางระยะไกลจะถูกผูกขาดด้วยเครื่องบินก็จริง แต่เพราะบริษัทที่ทำธุรกิจนี้มีหลายเจ้าและคุณภาพก็ไม่ได้หนีกันมาก มันจึงกลายเป็นธุรกิจพื้นๆ ในที่สุด ยิ่งปัจจุบันมีสายการบินแบบ Low Cost ที่ค่าตั๋วถูกแสนถูก มันก็คือแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ดีๆ นี่เอง

กลับมาที่สายการบินประจำชาติของเรากันต่อ สำหรับมุมมองส่วนตัวผมนะครับ ถึงแม้คุณจรัมพรจะสามารถพลิกฟื้นการบินไทยให้มารักคุณเท่าฟ้าและมีกำไรได้อีกครั้ง แต่นี่อาจเป็นเพียงแค่ "ด่านแรก" เพราะคำถามต่อมาคือ ถ้าการบินไทยกลับมาทำเงินได้ เราจะต้องทำยังไงบ้างให้มันทำเงินได้อย่างต่อเนื่องและยาวนานล่ะ ? หากบริษัทยังทำธุรกิจเหมือนกับที่คนอื่นทำ มันก็ยากที่จะสร้างผลลัพธ์อันน่าประทับใจได้

มันทำให้ผมนึกถึงกรณีศึกษาของสายการบิน Virgin ที่ก่อตั้งโดยยอด CEO นามว่า Richard Branson แม้เขาจะเข้ามาลุยในธุรกิจที่ขนาดบัฟเฟตต์ยังส่ายหน้า แต่สิ่งที่เขาคิดนั้นไม่เหมือนใครและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงครับ ด้วยความที่แบรนสันเองเดินทางบ่อยๆ ปัญหาอย่างหนึ่งที่เขาพบเจอก็คือ ในการเดินทางแต่ละครั้งมันแสนจะ "น่าเบื่อมาก" และอึดอัดทุกครั้งที่ต้องขึ้นเครื่องบิน 




Click image for larger version

Name: 030.jpg
Views: 1
Size: 286.1 กิโลไบต์
ID: 214932



เขาจึงเกิดไอเดียง่ายๆ ที่ว่า "การเดินทางแต่ละครั้งมันต้องสนุกและน่าตื่นเต้นกว่านี้สิ !" ที่สุดแล้วแบรนสันก็ได้ก่อตั้งสายการบินขึ้นมาในปี 2007 และกลายเป็น Virgin Airline จนถึงทุกวันนี้ แน่นอนครับ จุดเด่นของสายการบิน Virgin ที่ทุกคนต้องนึกถึงเลยก็คือมันสนุกและน่าตื่นเต้นตามแบบของแบรนสันนั่นเอง

ถ้าเราลองมาวิเคราะห์ดูแล้วจะพบว่า สิ่งที่ทำให้สายการบินของแบรนสันประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในเวลาอันสั้น มันก็มาจาก "จุดยืน" ของ Virgin นั่นแหละครับ ทุกคนที่ได้ยินชื่อสายการบินอันน่าตื่นเต้นนี้ก็จะต้องนึกถึงความสนุกในแบบของ Virgin นี่คือความแตกต่างที่ทำให้สายการบินนี้ "ผูกขาด" ใจของลูกค้าได้ 

สิ่งนี้เองต่างหากที่เป็นโจทย์ใหญ่ของการบินไทย หากในอนาคตคุณจรัมพร (หรือ CEO คนอื่นที่อาจมารับช่วงต่อ) สามารถตอบโจทย์ได้ว่าอะไรคือจุดยืนของบริษัท การอยู่รอดอย่างยั่งยืนของการบินไทยก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป เพราะที่ใดมีความผูกขาด ที่นั่นก็ย่อมทำเงินได้ อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับ Virgin มาแล้ว

การบินไทย รักคุณเท่าฟ้า จะเปลี่ยนจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เชือดเฉือนกันอย่างโหดเหี้ยม มาเป็นธุรกิจที่สร้างความแตกต่างและผูกขาดได้หรือไม่ ไม่ช้าก็เร็วเราคงรู้คำตอบครับ

แล้วเมื่อถึงวันนั้น ผู้ถือหุ้นคงได้บอกการบินไทยว่า "รักคุณเท่าฟ้า" เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น