ชื่อบทความนี้ผมไม่ได้เขียนผิดหรอกครับ เพราะผมเองแค่เกิดความสงสัยเฉยๆ ว่าหนังสือหรือบทความหลายอย่างต่างก็เขียนเกี่ยวกับวิธีการหามูลค่าที่แท้จริงไปเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทั้งวิธี DCF เอย เอากำไรในอดีตมาวัดอนาคตเอย
แต่.. เราจะรู้ได้ยังไงว่าวิธีที่ใช้ในการคำนวณนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ลองยกตัวอย่างด้วยวิธีที่ผมเคยใช้อย่างการเอากำไรในอดีตมาคาดการณ์อนาคตก็แล้วกัน บริษัท กุ๊กกู๋ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และที่สำคัญคือจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย โดยราคาหุ้นตอนนี้อยู่ที่ 20 บาท ผมสมมติให้กำไรต่อหุ้นย้อนหลัง 5 ปีเป็นดังนี้
ปี 2553 0.31 บาท
ปี 2554 0.45 บาท
ปี 2555 0.75 บาท
ปี 2556 0.99 บาท
ปี 2557 1.27 บาท
ถ้าเราลองใช้เครื่องคิดเลขทางการเงินกดคำนวณหาอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ก็จะได้ค่าที่สูงถึง 42.27% นั่นแปลว่าหากเราใช้ตัวเลขนี้ในการคำนวณหากำไรในอนาคต 5 ปีข้างหน้าเลย ผลลัพธ์จะเป็นดังนี้ครับ
ปี 2558 (F) 1.81 บาท
ปี 2559 (F) 2.57 บาท
ปี 2560 (F) 3.66 บาท
ปี 2561 (F) 5.20 บาท
ปี 2562 (F) 7.40 บาท
นี่ล่ะคือผลลัพธ์อันน่าตกตะลึงของดอกเบี้ยทบต้น ผ่านไปเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น กำไรต่อหุ้นก็โตขึ้นจนแตะ 7.40 บาท หากเราอยากรู้ราคาหุ้นในตอนนั้น ก็ใช้ค่า PE มาคูณกับกำไรต่อหุ้นได้เลยครับ หากเป็นคนที่อนุรักษ์นิยมนิดนึงอาจจะใช้ PE สัก 8 เท่า ราคาหุ้นในตอนนั้นก็ควรจะอยู่ที่ 59.20 บาท หรือถ้าใข้ PE เฉลี่ยสักประมาณ 12 ราคาหุ้นก็ควรจะอยู่ที่ 88.80 บาท
แต่ไม่ว่าจะอนุรักษ์นิยมหรือไม่ก็ตาม ราคาหุ้นทั้งสองค่าที่หาได้นั้นก็สูงพอที่จะดึงดูดใครหลายคนได้แล้ว จริงมะ เพราะราคาหุ้นของบริษัทกุ๊กกู๋ตอนนี้ก็อยู่ที่ 20 บาทเท่านั้น นี่ยังไม่ได้คิดเลยนะว่าหากในอนาคตตลาดให้ PE สูงสัก 20 เท่า ราคามันจะไปไกลขนาดไหน
แต่หยุด ! หยุด ชีวิต หยุดกับคนนี้ ไม่ว่าใครจะดีสักแค่ไหน... เอ้ยไม่ใช่ ! หยุดความคิดนี้ไว้ก่อนครับ สังเกตอะไรรึเปล่า สิ่งที่ผมเอามาคำนวณทั้งหมด มันเป็นเรื่องของอดีตทั้งนั้นเลย
หมายความว่ายังไง ? นั่นคือผม (และคนอื่นอีกหลายคน) กำลังให้ความสนใจกับข้อมูลที่ผ่านมาแล้วทั้งนั้น กำไรต่อหุ้น, PE, อัตราการเติบโตของกำไร ล้วนแล้วแต่เป็นอดีต แต่เรากลับลืมคิดถึงสิ่งที่เป็น "อนาคต" อย่างเช่นวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร, ภาวะอุตสาหกรรมว่าจะเป็นยังไงต่อไป, ลูกค้าจะยังใช้บริการเราอยู่รึเปล่า และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผมว่ามันอาจจะสำคัญว่าอดีตที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
เอาง่ายๆ ครับ หากผมเปลี่ยนใหม่ บอกว่าบริษัทกุ๊กกู๋นั้นกำไรขึ้นๆ ลงๆ ทุกปี แถมบางปีขาดทุนอีกตะหาก เราจะกล้าพอที่จะซื้อหุ้นบริษัทนี้มั้ย ? หลายๆ คนร้องยี้อย่างแน่นอน แต่ถ้าผมบอกว่าผู้บริหารนั้นมีฝีมือการทำงานเจ๋งพอๆ กับ Steve Jobs ล่ะ ? ไม่แน่บริษัทกุ๊กกู๋อาจกลายเป็น Apple หมายเลข 2 ก็ได้
หรือในเรื่องของภาวะอุตสาหกรรมที่กิจการนั้นทำอยู่ ในตัวอย่างนี้ผมบอกว่าบริษัทได้ทำธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของกิจการเหล่านี้ก็คือการไฟฟ้าที่เข้ามารับซื้อ แต่ถ้าวันนึงการไฟฟ้าเกิด Say No เพราะเห็นว่ามีคนทำธุรกิจนี้มากเกินไปแล้ว ต่อให้ในอดีตของบริษัทกุ๊กกู๋จะมีกำไรเติบโตปีละ 100% มันก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว
ถ้าอย่างนั้นการวัดมูลค่าที่แท้จริงจะเหมาะกับกิจการประเภทไหน ? ที่ผมนึกออกนะ ก็คงจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในรูปแบบที่ ใครๆ ก็ต้องใช้ แต่คู่แข่งเข้ามาแข่งไม่ได้ และปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างนี้แหละที่เราสามารถวัดมูลค่าหุ้นได้ เพราะเราจะมองอนาคตมันออก ลูกค้าคือใคร มันจะโตยังไง เหมือนกับ CPALL แต่ก่อนเป็นต้น
แต่ถ้าเราดันทะลึ่งไปหามูลค่าที่แท้จริงกับหุ้นที่มัน "เต็มมูลค่า" แล้ว สิ่งที่เราได้มันก็ไม่ต่างอะไรกับตัวเลขมั่วๆ ที่เราจินตนาการขึ้นมา โดยไร้เหตุผลรองรับดีๆ นี่เอง
และการใช้จินตนาการโดยปราศจากเหตุผล มันก็คงห่างไกลจากคำว่า "มูลค่าที่แท้จริง" มากนัก แต่มันจะนำไปสู่การ "ขาดทุนที่แท้จริง" อย่างเลี่ยงไม่ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น