15 เมษายน 2558

อย่าเชื่อบัฟเฟตต์

สำหรับสาวกบัฟเฟตต์ อย่าาาาเพิ่งกดปิดหน้านี้ไปนะครับ T-T ผมเองก็เป็นคนนึงที่ชื่นชอบบัฟเฟตต์มากๆ เพราะเค้าเป็น "คนเปิดโลก" แห่งการลงทุนให้กับผมเลยก็ว่าได้ ความรู้จากการลงทุนในช่วงแรกของผมก็มาจากหนังสือเกี่ยวกับวอร์เรน บัฟเฟตต์นั่นแหละ แต่เพราะอะไรผมถึงตั้งชื่อบทความแบบนี้ล่ะเนี่ย ?



ประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมเองได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาที่จัดโดยแอปแสกนหุ้นชื่อดังอย่าง Market Anyware โดยคอร์สสัมมนานี้ชื่อว่า "Buffett Decode" ถ้ามองแค่ชื่อคอร์สอย่างเดียว เราคงเดาว่าเนื้อหาก็คงจะหนีไม่พ้นการชื่นชมบัฟเฟตต์ว่าวิธีการของเค้าสุดยอดขนาดไหน ถูกต้องมั้ยครับ ?

แต่ไม่ ไม่ใช่เลยสักนิดเดียว เพราะความจริงคือวิธีการของบัฟเฟตต์โดน "สับเละ" ตั้งแต่เริ่มสัมมนาเลยต่างหาก !
ที่ผมใช้คำว่าสับเละก็คงไม่เกินไปหรอกครับ คำว่าสับเละในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าตำหนิหรือดูถูกวิธีที่เค้าใช้นะ แต่หมายถึงการ "แฉ" มากกว่าว่าทำไมสิ่งที่บัฟเฟตต์ใช้เลือกหุ้นนั้นจึงประสบความสำเร็จได้ และที่ผมมาแชร์ในเพจวันนี้ก็ไม่ใช่เพราะว่าผมจ้องจับผิดหรือมีอคติกับบัฟเฟตต์แต่อย่างใด แต่ผมคิดว่ามันคงจะดีกว่าหากเราพิจารณาวิธีของบัฟเฟตต์ด้วย "สติ" แทนที่จะใช้ "อารมณ์" และสรุปเหมือนคนส่วนใหญ่ว่านี่คือวิธีที่ "ดีที่สุด" เพียงเพราะเขาเป็นนักลงทุนที่ "เก่งที่สุด"

ทำไมบัฟเฟตต์ถึงประสบความสำเร็จ ? มาเริ่มที่ปัจจัยแรกกันก่อน อย่างที่เรารู้กันว่าเซียนท่านนี้เริ่มต้นลงทุนในหุ้นตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ! เราอาจจะมองว่าถ้าไม่ใช่เพราะความรักหรือความชอบอย่างบ้าคลั่งก็คงไม่มาสนเรื่องพวกนี้หรอก เพราะเด็กส่วนใหญ่ในวัยเดียวกันคงวิ่งเล่นกันซะมากกว่า ถูกมะ ?



แต่ในความเป็นจริง จะว่าไปมันก็ไม่แปลกหรอกครับที่บัฟเฟตต์จะสนเรื่องหุ้น นั่นเพราะอย่างแรกเลยคือพ่อของเค้าเองทำงานเกี่ยวกับการลงทุนอยู่แล้ว (นี่อาจจะเป็นความได้เปรียบข้อแรกที่เค้ามีมากกว่าคนอื่น) และสองก็คือ ช่วงที่บัฟเฟตต์เกิดนั้นมันตรงกับช่วงหลังปี 1929 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่พอดี และเด็กๆ ในวัยเดียวกันกับบัฟเฟตต์ต่างก็สนเรื่องความร่ำรวยกันทั้งนั้น (อ้างอิงจากหนังสือ "ชาตินี้คงไปไม่ถึงไหน ถ้าทำอะไรแค่พอผ่าน")

ปัจจัยที่สองที่ทำให้บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จได้ มันก็เกี่ยวกับช่วงเวลาเหมือนกันครับ เพราะช่วงที่เขาลงทุนมันคือช่วงที่กลุ่มคนยุค "Baby Boomer" กำลังเข้าสู่วัยทำงานพอดี (เบบี้ บูมเมอร์คือคนที่เกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ใช้คำว่าบูมเมอร์เพราะประชากรที่เกิดในช่วงนี้มี "เยอะมากๆ" สาเหตุก็ไม่ต้องแปลกใจ นึกภาพตามนะครับ ทหารหนุ่มเป็นล้านๆ คนเพิ่งชนะสงครามและกลับบ้านมาหาภรรยาหลังจากที่ไม่ได้เจอกันหลายเดือน.. จากนี้คิดต่อเองนะ :P)


ซึ่งการที่กลุ่มประชากรจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน นั่นแปลว่าทั้งประเทศนั้นมีทรัพยากรที่มีค่าอย่างแรงงานล้นเหลือ และนั่นนำไปสู่การจ้างงานอย่างบ้าคลั่ง เมื่อมีงาน ก็มีสินค้าออกมามากขึ้น สินค้ามากขึ้นไม่พอครับ เบบี้บูมเมอร์ก็ต้องกินต้องใช้ การบริโภคจึงสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อการบริโภคสูงขึ้น รายได้และกำไรของบริษัททั้งหลายก็ย่อมมากขึ้น สุดท้ายราคาหุ้นก็ขึ้น นี่จึงเป็นความได้เปรียบข้อที่สองของบัฟเฟตต์

อย่างที่สาม บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยังไม่มากเท่าตอนนี้ ง่ายๆ ก็คือแต่ละกิจการนั้นยังมีคู่แข่งไม่มาก เมื่อมีคู่แข่งไม่มากแปลว่าแต่ละกิจการในตอนนั้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนเรียกได้ว่าเป็น "บิ๊กเบิ้ม" ในอุตสาหกรรมนั้นๆ (ผูกขาดนั่นเอง) แต่ดูตอนนี้สิ แทบทุกอุตสาหกรรมต่างก็เป็น Red Ocean กันทั้งนั้นเลย

อย่างที่สี่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่เข้าถึงทุกบริษัท เช่นสมมติ ผมกับคุณเป็นเจ้าของโรงงานทำรองเท้าเหมือนกัน แต่คุณมีวิธีการผลิตที่ดีกว่าและ "เป็นความลับ" ซึ่งทำให้คุณมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าผม นี่คือความได้เปรียบในยุคนั้นครับ แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตเกือบทุกบริษัทก็ทันกันหมดแล้วทั้งนั้น ความได้เปรียบในข้อนี้จึงลดน้อยลง แต่มันมีอยู่มากในช่วงของบัฟเฟตต์


และความได้เปรียบอย่างสุดท้ายของเขาก็คือเรื่องของ "ข้อมูล"  คงไม่มีใครเถียงได้ว่าบัฟเฟตต์นั้นขยันแบบโคตรๆ ที่ไปหาอ่านทั้ง Annual Report, งบการเงิน หรือเอกสารต่างๆ อีกมากมายเกี่ยวกับบริษัท นั่นเพราะในยุคนั้น "เน็ตยังไม่มี" (เป็นเราๆ คงดิ้นตายถ้าขาดเน็ตสักวัน) ความหมายก็คือข้อมูลข่าวสารนั้นยังไม่ทั่วถึงนั่นเอง จึงทำให้คนขยันอย่างเขามีความได้เปรียบทันทีเพราะมีข้อมูลมากกว่าคนอื่น

ทั้งหมดที่ผมเขียนมาคือสิ่งที่วิทยากรได้อธิบายในวันนั้นครับ แต่ผมจะสรุปได้เลยรึเปล่าว่าวิธีการที่เค้าใช้นั้นมันไม่ได้ผลอีกแล้ว ? คงจะไม่ได้อยู่ดี เพราะถ้ามันไม่ได้ผลจริงแล้วทำไมกองทุนของ Berkshire ที่มีพอร์ตขนาดแสนล้านเหรียญถึงยังโตอยู่ได้ล่ะ แถมใครหลายๆ คนที่ใช้วิธีแบบบัฟเฟตต์ก็ยังทำกำไรได้ด้วย

แต่สิ่งนึงที่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ ความขยันแบบเหนือมนุษย์ของบัฟเฟตต์ ผมว่านี่แหละอาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เขาร่ำรวยจากการลงทุนได้ และเมื่อรวมกับความได้เปรียบทั้งหมดที่ผมเล่ามา จึงส่งผลให้เค้ากลายเป็นตำนานอยู่จนถึงปัจจุบัน

แล้วเราจะประสบความสำเร็จอย่างปู่ได้มั้ย ?

อืม.. คงจะไม่ได้เพราะเราไม่ใช่บัฟเฟตต์ 5555+ และคงไม่มีวันครับ เราจะประสบความสำเร็จในแบบเค้าทำไมล่ะ เราก็สำเร็จในแบบของเราซะสิ ! ที่ผมเขียนมาทั้งหมดเพราะผมอยากเตือนหลายๆ คนที่กำลังทำตามเซียนหุ้นทั้งหลายมากกว่า (ไม่ใช่เฉพาะบัฟเฟตต์) ว่าทำตามน่ะทำได้ แต่เรามีปัจจัยที่เป็นความได้เปรียบเหมือนเค้ารึเปล่าล่ะ

สู้ศึกษาวิธีการของคนหลายๆ คน วิเคราะห์ด้วยสติว่ามันดีจริงหรือไม่ดีจริง ขยันเข้าไว้ แล้วลงทุนแบบของตัวเอง ที่มันถูกจริต ที่มันเหมาะสมกับความได้เปรียบที่เรามีในตอนนี้ แล้วสร้าง "ตำนาน" ในแบบของเราเองไม่ดีกว่าเหรอ จริงมะ ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น