ก่อนอื่นเลยนี่เป็นแอปที่มาแปลกพอสมควร คือปกติแล้วโปรแกรมหรือแอปดูหุ้นส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอุปกรณ์เดียวเท่านั้น เช่น Biznews หรือ eFin ก็จะใช้ในคอมเป็นหลัก (ใช้ผ่านโทรศัพท์ได้เหมือนกันแต่ก็แค่ขำๆ) หรือแอปหุ้นชื่อดังอย่าง Stock Radars เองก็ทำขึ้นมาเพื่อใช้ในโทรศัพท์และแท๊ปเล็ตโดยเฉพาะ ไม่มีให้ใช้ในคอมแต่อย่างใด
แต่สำหรับ Market Anyware มันมาเหนือชั้นมากๆ คือทางผู้พัฒนาได้ทำออกมาทั้งเวอร์ชั่นโทรศัพท์ แท๊บเล็ต แถมใช้ในคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย ! (ได้ทั้ง Mac และ Windows อีกตะหาก อ้อ ! Ubuntu ด้วยนะ) ซึ่งในการรีวิวครั้งนี้ผมจะใช้เวอร์ชั่น PC นะครับ แต่ไม่ต้องห่วง เพราะทั้งในโทรศัพท์และแท็บเล็ตก็ใช้งานง่ายไม่ต่างกับในคอมเลย ส่วนนี่คือลิ้งดาวน์โหลดนะครับ http://marketanyware.com/
ทันทีที่เราโหลดไฟล์มาเสร็จเรียบร้อย (มันจะเป็นไฟล์ .zip) เราก็ทำการแตกไฟล์ออก และคลิกเข้าโปรแกรมได้เลยครับ สำหรับวินโดวส์จะมีหน้าต่างเด้งขึ้นมาอันนึง ให้เรากด Run ได้เลย เมื่อกด Run ปุ๊ป ตัวโปรแกรมก็จะเด้งขึ้นมาแบบที่เห็น
หน้าข้างบนนี้จะเป็นการโหลดโปรแกรมสักครู่ อีกไม่กี่อึดใจต่อมาก็จะเข้าสู่หน้านี้ครับ
หน้านี้จะเป็นส่วนของ Favorite ที่จะโหลดขึ้นมาเป็นหน้าแรก สำหรับวิธีการดูก็ไม่ยากครับ สี่เหลี่ยมๆ แต่ละอันนั้นก็คือตัวหุ้นตัวนั้นหรือไม่ก็ดัชนีนั้นๆ และสีที่แสดงก็บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในวันนั้นครับ สีแดงคือลง สีเหลืองคือไม่เปลี่ยนแปลง และสีเขียวคือขึ้น ดูง่ายมากๆ
ส่วนเมนูที่อยู่ด้านขวามือ (ตรงที่ผมล้อมกรอบสีฟ้าไว้) จะประกอบด้วยหกเมนูด้วยกันครับ ได้แก่
- ช่องค้นหา ไว้สำหรับเสิร์ชชื่อหุ้น รวมถึงดัชนีต่างๆ วอแรนท์ และ DW ได้ด้วย
- คือ % การเปลี่ยนแปลง อย่างที่เห็นในภาพจะเป็นคำว่า % Day นั่นคือการเปลี่ยนแปลงในวันนั้นๆ แต่ถ้าเรากดอีกครั้งนึง มันจะเป็น % Month คือการเปลี่ยนแปลงในรอบเดือนนั้นๆ ถ้าหากยังงง ลองโหลดมาแล้วกดเล่นๆ จะเข้าใจมากขึ้น
- หน้า Favorite ชื่อบอกตรงตัวครับคือเราสามารถเพิ่มหุ้นที่เราต้องการดูเป้นพิเศษไว้ในหน้านี้ได้
- เมนูข่าว ในส่วนนี้พอเราคลิกเข้าไปมันจะมีทั้งข่าวที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงตามเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งแน่นอนรวมถึงเว็บบอร์ดของ Stock2Morrow ที่ผมทำงานอยู่ด้วย :P
- นี่คือส่วนที่จี๊ดและโดนใจผมมากๆ ครับ มันคือส่วนของการแสกนหุ้นนั่นเอง ถ้าเป็นโปรแกรมทั่วไปมักจะสแกนเฉพาะเทคนิคเป็นหลัก (บางโปรแกรมก็สแกนพื้นฐานได้แต่ไม่ละเอียดนัก) แต่สำหรับ Market Anyware จะบอกว่ามันมีให้เลือกเยอะมากๆ ! เดี๋ยวจะเล่าอีกทีช่วงต่อไปนะ
- เป็นเมนูในส่วนของการจัดการโปรไฟล์ต่างๆ ของเราเอง เพราะสำหรับแอป Market Anyware เราสามารถโหลดมาใช้ได้ฟรีครับ แต่จะใช้ได้แค่บางความสามารถเท่านั้น ถ้าหากต้องการใช้แบบตัวเต็มเราจะต้องสมัครสมาชิกและเลือกซื้อแพคเพจ โดยแพคเพจที่ใช้ได้ทุก Feature นั้นจะมีราคาประมาณ 5 พันกว่าบาท / ปี แต่อย่างเพิ่งตกใจไป เพราะเราสามารถสมัครและทดลองใช้ได้ฟรี 7 วัน
การสมัครสมาชิก
ก่อนที่เราจะใช้แบบตัวเต็มตามที่ผมมารีวิวในครั้งนี้ เราจะเริ่มกันด้วยการสมัครสมาชิกเพื่อทดลองใช้ก่อนครับ จะว่าไปนี่เป็นข้อดีอีกอย่างนึงสำหรับโปรแกรมหุ้นที่เจ้าอื่นๆ ควรจะดูไว้ เพราะแอป Market Anyware ให้เราทดลองเล่นตัวเต็มได้เป็นเวลา 7 วันครับ ไม่ต้องเสียเงินซื้อก่อนแล้วมาลุ้นเองว่ามันจะดีตามที่หวังไว้รึเปล่า เอาล่ะ เรามาคลิกที่ More เลยดีกว่า พอคลิกแล้วมันจะขึ้นมาแบบนี้
เมื่อเรากด Login ให้เราคลิกที่ปุ่ม Create New User แล้วกรอกข้อมูลตามที่เห็นในภาพได้เลย เมื่อกรอกเสร็จแล้วก็กด Send เพียงเท่านี้เราก็จะได้บัญชีสำหรับทดลองใช้ 7 วันแล้ว
ขั้นตอนของการสมัครสมาชิกก็มีง่ายๆ แค่นี้แหละครับ มาที่เมนูถัดไปที่ผมภูมิใจนำเสนอมากๆ (ทำยังกะผมทำแอปนี้ขึ้นมาเอง :P) นั่นคือในส่วนของการดูหุ้นรายตัว
ดูหุ้นรายตัว
วิธีการค้นหาหุ้นรายตัว เราก็แค่ไปคลิกที่รูปแว่นขยายแล้วพิมพ์ชื่อหุ้นครับ จากนั้นมันจะขึ้นมาแบบในภาพ เมื่อขึ้นมาแล้วเราก็กดดูหุ้นที่อยากดูได้เลย
ผมไม่ได้ถือหุ้นนี้นะครับ แค่ยกตัวอย่างเฉยๆ ปิ๊งๆ *-*
พอกด VIEW ก็จะขึ้นมาแบบภาพด้านล่าง
เมื่อเรากดค้นหาแล้ว สิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับหุ้นตัวนั้น (ทางฝั่งซ้ายมือ) ว่าหุ้นนี้มีราคาเท่าไหร่ PE เป็นยังไง และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนทางขวาก็จะเป็นในส่วนของข่าวหุ้น รวมถึงมีกราฟหุ้นแบบย่อให้ดูอีกด้วย แต่มันยังไม่หมดแค่นี้นะ เพราะถ้าสังเกตด้านบน จะมีเมนูอีกสองตัวให้กดก็คือ Technical และปุ่ม Fund.. (Fundamental) อย่างที่เห็นในภาพ
Technical
สำหรับ Technical เมื่อเรากดเข้ามาก็จะเป็นกราฟหุ้นแบบเต็มดังนี้เลย
วงกลมสีฟ้าที่ผมวงไว้นั่นคือส่วนที่ผมใช้บ่อยๆ ครับ วงแรกนั้นคือ Time Frame ว่าเราอยากดูกราฟหุ้นขนาดไหนบ้าง ซึ่งมีตั้งแต่เล็กสุดอย่างแท่งละ 1 นาที ไปจนใหญ่สุดคือแท่งละเดือน ส่วนอีกวงนึงที่อยู่ฝั่งขวามือคือการปรับแต่งกราฟ จะบอกว่าเครื่องมือต่างๆ ที่แอปนี้มีให้มัน "เยอะ" จนใช้ไม่ไหวจริงๆ
เครื่องมือเยอะมากๆ !
มีแม้กระทั่งให้ตั้งค่า Fibo ซะด้วย
Fundamental
ผมเองก็ไม่รู็ว่าทีมงานจะขยันขันแข็งไปถึงไหนเหมือนกัน เพราะขนาดโปรแกรมที่ทำขึ้นมาในคอมยังไม่มีเจ้าไหนที่ "เจาะ" ในเรื่องพื้นฐานของหุ้นละเอียดเท่ากับแอป Market Anyware เลยครับ ! ทันทีที่เรากดปุ่ม Fundamental ในหน้าของการค้นหา หน้าแอปก็จะขึ้นมาแบบที่เห็น แถมยังมีเมนูย่อยๆ ให้ดูอีกแหน่ะ
หน้าแรกคือ Financial Ratio เป็นหน้าที่บอกอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทแบบคร่าวๆ
ถ้าหากสังเกตตรงมุมขวา จะเห็นว่าเราสามารถปรับได้ว่า
จะดูแบบรายปีหรือรายไตรมาสได้ด้วย
หน้านี้คือข้อมูลสำคัญทางการเงินต่างๆ สบายตาดีแท้ไม่ต้องมานั่งเปิดงบทีละไฟล์
หรือใครสายฮาร์ดคอ จะโหลดงบแบบเต็มจากหน้า Document ก็ได้นะ !
หน้า Financial Chart ที่บอกเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนของบริษัท
มีบอกแม้กระทั่งงบกระแสเงินสด นับถือเลย
3 หน้านี้คือหน้าของงบดุล, งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด (ตามลำดับ)
โดยสีเขียวและสีแดงใต้ตัวเลขต่างๆ หมายถึงการเปลี่ยนแปลง
เช่น หากรายการเงินสดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (หรือไตรมาสก่อน) เส้นจะเป็นสีเขียว
การสแกนหุ้น
นอกจากความสามารถในการแสดงข้อมูลแบบ "โคตรละเอียด" แล้ว แอป Market Anyware ยังมีอีกฟังก์ชั่นนึงที่เป็นจุดเด่นมากๆ เลยก็คือเรื่องของการ "สแกนหุ้น" ครับ โดยการสแกนนั้นจะแบ่งเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือสแกนด้วยปัจจัยพื้นฐาน และสแกนด้วยปัจจัยทางเทคนิค โดยวิธีการสแกนก็ง่ายๆ ครับ มองเมนูทางขวามือและคลิกเลือกเมนู Scanner
เมื่อเข้ามาแล้วเราจะเห็นเมนูให้เลือกอีกอย่างที่เห็นครับ เยอะล่ะสิ แต่นี่ยังไม่หมดนะ ! ทันทีที่เรากดปุ่ม Start Your Scanner เราจะเจอเครื่องมืออีกเป็นตับให้ใช้เลยทีเดียว (เพิ่งสังเกตว่ามีการสแกนแบบบัฟเฟตต์ให้ใช้ด้วย !)
เข้ามาแล้วก็จะเป็นแบบนี้แหละ มีเครื่องมือให้เลือกใช้เยอะมาก นอกจากนี้
ยังแบ่งเป็นสี่หมวดได้อีก คือแบบ Basic, Fundamental, Technical และ
สแกนแบบ Pattern ของกราฟได้อีกด้วย
ถ้าจะให้ผมรีวิวโดยการสแกนทีละเครื่องมือ ผมว่าคืนนี้คงไม่ได้นอนแน่ๆ ครับ T-T ผมจะใช้การสแกนแบบคร่าวๆ ให้ดูดีกว่าว่ามันเจ๋งขนาดไหน (นอกเหนือจากนี้ลองเองเลยจ้า) โดยการสแกนแบบพื้นฐาน ผมจะหาหุ้นที่มีกำไรสุทธิเติบโตอย่างน้อย 10 ปี และการสแกนด้วยกราฟ ผมจะสแกนโดยใช้เงื่อนไขคือ EMA 10, 20, 30 และ 40 ตัดขึ้นพร้อมกันในช่วง 5 วันที่ผ่านมา
เริ่มกันด้วยสแกนแบบพื้นฐานครับ ถ้าเราจะสแกนโดยใช้กำไรสุทธิเป็นเกณฑ์ เราก็แค่กดปุ่ม Scanner ที่เมนูขวามือ และเลือกในส่วนของ Income Hilight
เมนูที่ผมเลือกคือ "10-Yr Stable Net Profit Growth"
เมื่อกดเข้ามาแล้วเราจะได้แบบนี้ครับ จะเห็นว่ามันมีอยู่สองส่วนหลักได้แก่ส่วนแรก คือ Avg Profit Growth นั่นคือการเติบโตของกำไรสุทธิแบบเฉลี่ย (หรือ CAGR นั่นเอง) ซึ่งค่าที่โปรแกรมกำหนดไว้ก็คือ 15% เป็นเวลา 10 ปี โดยค่านี้เราอาจเปลี่ยนก็ได้อย่างเช่น เราอยากได้กิจการที่กำไรโตโดยเฉลี่ยสัก 20% ต่อปี เราก็เข้าไปแก้ตรงเลข 15 ให้เป็น 20
ส่วนที่สองก็คือ Profit Growth Hist. คือการเติบโตของกำไรสุทธิย้อนหลัง โดยเงื่อนไขที่โปรแกรมกำหนดไว้คือ ยอมให้กำไรสุทธิในบางปีลดลงได้ไม่เกิน 30% (ในช่อง Min) และยอมให้กำไรสุทธิโตไม่เกิน 100% (ในช่อง Max) แน่นอนว่าค่าต่างๆ เราก็สามารถแก้ไขได้แบบตามใจฉันเลย
สมมติว่าผมปรับแต่งค่าต่างๆ จนพอใจแล้ว เราก็กดปุ่ม Scan ที่อยู่ด้านล่าง แล้วผลลัพธ์ของการสแกนจะขึ้นมาแบบที่เห็นครับ (เกือบลืมบอก กด Scan เสร็จแล้วกด Show Result อีกทีนะ ปุ่มเดิมน่ะแหละ)
ฟรุ้งฟริ้งอย่างที่เห็น ทำสวยจริงๆ นะ
มาต่อกันที่การสแกนด้วยกราฟครับ โดยวิธีการทำก็เหมือนเดิมเลย คือคลิกปุ่ม Scanner แล้วเลือกส่วนของ EMA Cross Over (หรือใครที่อยากปรับแต่งมากๆ ก็สามารถกด Start Your Scanner แล้วเลือกหัวข้อ Technical ก็ได้)
รายการแรกที่ผมเลือกก็คือ EMA 10, 20, 30 และ 40 ตัดขึ้นในช่วง 5 วันที่ผ่านมา
เมื่อกด Scan และ Show Result เรียบร้อย หน้าตาก็จะเป็นเช่นนี้แล
ที่ผมชอบแอป Market Anyware เป็นพิเศษก็เพราะตัวสแกนนี้ล่ะครับ เพราะเราสามารถปรับแต่งได้แบบไม่จำกัดเลย แถมในการสแกนทางเทคนิค เราสามารถเลือกได้อีกว่าอยากหาใน Time Frame ไหน โดยมีให้เลือกสามแบบด้วยกันคือภาพ Day, Week และ Month
แต่ถึงแม้ตัวสแกนของแอปนี้จะใช้งานได้ง่ายและยืดหยุ่นมาก แต่ข้อเสียอย่างนึงที่ทางผู้พัฒนาแอปออกมายอมรับก็คือ ข้อมูลในการสแกนมันถูกต้องประมาณ 80-90% ครับ นั่นหมายความว่าเมื่อเราสแกนเจอหุ้นนั้นแล้ว ก็ควรจะเช็คด้วยการดูกราฟ (หรือดูงบ) อีกทีนึงว่ามันตรงกับที่โปรแกรมหาได้มั้ย แต่อย่างน้อยตัวแอปเองก็กรองได้ดีในระดับนึงเลย ไม่ต้องเสียเวลาหาหุ้นทีละตัวๆ
สรุปการรีวิว
ข้อดี
- โปรแกรมสวยงามโคตรๆ
- การใช้งานที่ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้
- ข้อมูลละเอียดมาก โดยเฉพาะข้อมูลด้านปัจจัยพื้นฐาน
- ราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ แถมมีให้ทดลองใช้ด้วย
- การสแกนหุ้นที่ยืดหยุ่นกว่าโปรแกรมหรือแอปอื่นๆ
- สเปกคอมที่ไม่แรงก็ใช้ได้ (คอมผมที่ใช้อายุประมาณ 10 ปี เป็นโน้ตบุ๊กของ VAIO)
ข้อสังเกต
- โทรศัพท์ที่ใช้มานานอย่าง iPhone 4 เมื่อใช้แอปแล้วมีอาการหน่วง (แต่อย่างว่าเครื่องมันเก่า)
- ข้อมูลที่ได้จากการสแกนไม่ได้ถูกต้อง 100% (ได้ 80 - 90%)
- ผู้ใช้ยังไม่สามารถปรับ Interface เองได้ (พวกสีของแท่งเทียน หรือสีของพื้นหลัง)
- หากต้องการดูหุ้นแบบ Realtime ต้องซื้อต่างหาก ยกเว้นการซื้อแบบ 1 ปี + Realtime
- ถ้าอยากใช้เครื่องมือทางเทคนิคบางตัว หรืออยากสแกนด้วยพื้นฐานเพียงแค่บางตัว ต้องซื้อแบบยกเซ็ต ไม่สามารถซื้อแยกเป็นรายการที่อยากใช้ได้
ก็จบเพียงเท่านี้สำหรับการรีวิวแอปดีๆ ของคนไทยอย่าง Market Anyware วันไหนผมมีโปรแกรมดีๆ จะมารีวิวให้อ่านกันอีกนะ ผมขอตัวไปทำการบ้านก่อนนะครับ 5555+
ขอบคุณแอป Market Anyware ที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้นักลงทุนไทยได้ใช้กัน
ผมใช้อยู่สุดยอดครับฃ้อมูลย้อนหลังมาแน่นๆ
ตอบลบ