27 กุมภาพันธ์ 2558

วิธีการคำนวณต้นทุนในการซื้อหุ้น

ตามปกติแล้วจะมีเพียงแค่ไม่กี่คนหรอกครับที่ซื้อหุ้นแบบ "ตูมเดียว" ไม่แบ่งไม้ซื้อเลย (หนึ่งในนั้นคือผม) แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีระบบการลงทุนที่ดีพอ มักจะใช้วิธีการ "ทยอยซื้อ" ทีละไม้ และไม่ต้องพูดถึงคนที่มีทุนหนาครับ การทยอยซื้อหุ้นทีละไม้จำเป็นมากทีเดียว ไม่งั้นสมมติเรามีเงินสักล้านนึง แล้วเหมา Offer ไปสักสองช่อง รายย่อยคงแตกตื่นกันพอดี

ทีนี้ในแต่ละไม้ที่เราซื้อเนี่ย ไม้แรกมันก็ยังดีอยู่หรอกครับ แต่พอเริ่มมีไม้ที่สอง สาม หรือสี่ สิ่งนึงที่มันจะเปลี่ยนไปในพอร์ตโฟลิโอ นอกจากจำนวนหุ้นที่เราจะมีเพิ่มขึ้นแล้วก็คือ "ต้นทุนต่อหุ้น" นั่นแหละที่เปลี่ยนไป ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่ามันคำนวณยังไง ผมจึงถือโอกาสนี้บอกสูตรการคำนวณเลยดีกว่า เผื่อวันหลังถ้าถัวซื้อหุ้นเพิ่มจะได้คำนวณต้นทุนเองได้

ตัวอย่างเป็นแบบนี้ครับ สมมตินายโอม ได้เข้าซื้อหุ้นที่ชื่อว่า FLOOR ที่ราคาหุ้นละ 5 บาท เป็นจำนวน 10,000 หุ้น (ชื่อโคตรมงคลเลย) นั่นเท่ากับว่าต้นทุนในการซื้อหุ้นของนายโอมครั้งนี้จะเท่ากับ 5 x 10,000 = 50,000 บาท ไม่มีอะไรผิดปกติ

แต่พอสามสี่วันให้หลัง ราคาหุ้นดันร่วงอัดฟลอร์สมชื่อ (ลงมา 30% ในวันเดียว) จนราคาเหลือเพียง 3.50 บาทต่อหุ้น เมื่อนายโอมเห็นดังนั้น จึงบอกกับตัวเองว่ามันลงมาขนาดนี้แล้ว ซื้อเพิ่มเถอะ มันลงมากกว่านี้ไม่ได้หรอก ! (อย่าทำตามเชียวนะ) และได้เข้าซื้อเพิ่มอีก 20,000 หุ้น ที่ราคา 3.50 บาท

ซึ่งต้นทุนในการซื้อหุ้นไม้ที่สองของนายโอมจะคิดเป็นเงิน 3.50 x 20,000 = 70,000 บาท จุดไคล์แมกซ์อยู่ตรงนี้ครับ ถ้าเราอยากรู้ต้นทุนรวมทั้งหมดจะทำยังไงล่ะ ? เพราะแอป Streaming ไม่ได้โชว์ต้นทุนแบบแยกไม้ด้วยน่ะสิ !

ง่ายๆ ครับ วิธีการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยก็คือ เอามูลค่าการซื้อหุ้นของแต่ละไม้มารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด อย่างในกรณีของนายโอม เราก็เอา 50,000 บาท (ต้นทุนไม้แรก) บวกกับ 70,000 บาท (ต้นทุนไม้ที่สอง) และหารด้วยจำนวนหุ้น 30,000 หุ้น (จำนวนหุ้นทั้งหมด) นั่นหมายความว่าต้นทุนเฉลี่ยต่อหุ้นจะเท่ากับ 50,000 + 70,000 / 30,000 = 4 บาท

แต่นี่คือการคิดแบบไม่มีค่าคอมมิชชั่น ในขณะที่บางโบรคจะเอาเงินค่าคอมมิชชั่นรวมไปในต้นทุนการซื้อหุ้นด้วย วิธีคิดก็ไม่ต่างจากเดิมมากครับ ก็แค่เอาค่าคอมทั้งหมดมารวมในต้นทุน แล้วหารด้วยจำนวณหุ้นทั้งหมดเหมือนเดิมแค่นั้นเอง

โดยวิธีการคิดต้นทุนต่อหุ้นที่ผมเพิ่งเขียนไปเราจะเรียกว่าการคิดแบบ "ถัวเฉลี่ย" หรือ Moving Average แต่นี่เพิ่งจบเรื่องของขั้นตอนการซื้อเท่านั้น แล้ววิธีคิดในส่วนของการขายหุ้นล่ะ ?

นับเป็นความ "เกรียน" ของโปรแกรมอีกแล้วที่ไม่โชว์ต้นทุนที่ซื้อแต่ละไม้ เพราะการขายออกจะคิดคนละวิธีกับการซื้อหุ้นครับ ! ซึ่งวิธีการคำนวณตอนขายหุ้น เราจะเรียกวิธีนี้ว่า "เข้าก่อนออกก่อน" หรือ FIFO (First in First out) ใครที่เรียนบัญชีจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่ไม่ต้องเรียนบัญชีคนธรรมดาอย่างเราก็เข้าใจได้ครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่า ! จากตัวอย่างเดิม ตอนนี้นายโอมมีหุ้นชื่อ FLOOR อยู่ทั้งหมด 30,000 หุ้นแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าอีกแค่อาทิตย์ต่อมา ราคาหุ้นกลับพุ่งสูงไปจนถึง 10 บาท ! เศรษฐีทันใจจริงๆ

เมื่อนายโอมเห็นดังนั้น จึงตัดสินใจว่าจะ "แบ่งขาย" หุ้นออกไปสัก 5,000 หุ้นเพื่อเอาเงินมาซื้อรางวัลให้กับตัวเอง หากในตอนนั้นราคาตลาดเท่ากับ 10 บาท และนายโอมได้ขายหุ้นออกไป 5,000 หุ้น สุทธิแล้วนายโอมจะได้เงินเข้ากระเป๋า 50,000 บาท.. แล้วกำไรล่ะ ได้กี่บาทต่อหุ้น ?

ได้ 6 บาทรึเปล่า ? เพราะต้นทุนเฉลี่ยในการซื้อหุ้นของนายโอมคือ 4 บาทนี่นา.. เกือบถูกครับ ความจริงแล้วนายโอมได้กำไรต่อหุ้นคือ 5 บาท ถ้าหากยังงงอยู่ลองดูรูปภาพข้างล่างนี้ได้เลย


เราจะเห็นว่า ถึงแม้ต้นทุนรวมของนายโอมจะอยู่ที่หุ้นละ 4 บาทก็จริง แต่ถ้ายังจำได้ นายโอมได้ซื้อหุ้นทั้งหมดสองไม้ครับ ไม้แรกที่ราคา 5 บาท และไม้ที่สองที่ราคา 3.50 บาท ซึ่งในขั้นตอนของการขายที่เรียกว่า "เข้าก่อนออกก่อน" มันก็บ่งบอกในชื่อมันเองอยู่แล้วครับ หากนายโอมขายหุ้นที่ราคา 10 บาท เป็นจำนวน 5,000 หุ้น  Lot ที่จะเอาหุ้นออกมาขายก็คือ Lot ที่ซื้อมาครั้งแรก คือที่ต้นทุน 5 บาทนั่นเอง !

และทันทีที่ขายออก นอกจากนายโอมจะได้เงิน 50,000 ไปนอนกอดแล้ว จำนวนหุ้นคงเหลือของนายโอมก็จะเปลี่ยนไปดังนี้


อย่างที่เห็นในภาพครับ หุ้นที่ซื้อมา Lot แรกที่มีอยู่ 10,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 5 บาท ตอนนี้เหลือจำนวนแค่ 5,000 หุ้นแล้ว รวมถึงต้นทุนต่อหุ้น (ที่อยู่ตรงจำนวนหุ้นคงเหลือ) ก็เหลือแค่หุ้นละ 3.80 บาทด้วย (25,000 + 70,000 / 25,000) ถ้าเป็นโปรแกรม Streaming จะโชว์เพียงแค่ต้นทุนเฉลี่ยเท่านั้น แต่ไม่ได้แจกแจงว่าที่เราขายหุ้นออกไปมันทำให้ Lot ไหนลดลงบ้าง นี่คือสิ่งที่เราต้องคำนวณเอง

แล้วถ้าเกิดอีกสองสามวันต่อมา นายโอมขายหุ้นออกไปอีก 15,000 หุ้นล่ะ ? ก็ไม่ยากครับ หุ้น Lot แรกที่ซื้อมาก็จะหมดไป และหุ้น Lot ที่สองก็จะหายไป 10,000 หุ้น จนผลลัพธ์เป็นดังรูปนี้


ต่อไปนี้พอเวลาเราซื้อหรือขายหุ้นจะได้คำนวณเองได้ไม่ต้องถามโบรคเกอร์ให้ยุ่งยากอีกต่อไป อ้อ ! ถ้าเกิดโบรคไหนที่เอาค่าคอมไปรวมอยู่ในต้นทุนการซื้อหุ้นด้วย เราก็แค่เอาค่าคอมมิชชั่นทั้งหมดไปรวมในต้นทุน แล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดนะครับ

จบแล้วครับ สั้นๆ ง่ายๆ แค่นี้แหละ หุหุ

เพิ่มเติม !!! ไฟล์สำหรับบันทึกการซื้อหุ้นนะครับ http://www.mediafire.com/download/2naimvxxdzy50b8/บันทึกต้นทุนการซื้อหุ้น.xlsx

2 ความคิดเห็น: