ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ให้เหตุผลว่า คนที่ลงทุนระยะยาวนั่นแหละคือนักพนันตัวยง เพราะการคาดการณ์ราคาหุ้นวันพรุ่งนี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้ แล้วนับประสาอะไรกับการคาดการณ์อนาคตของหุ้นในอีกสิบปีข้างหน้าล่ะ ?
ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่การลงทุนแบบ VI เท่านั้นที่โดนแขวะ เทคนิคอลก็โดนไม่ใช่น้อยครับ วีไอสายดำบางคนถึงขนาดมองว่ามันคือเรื่องที่ไร้เหตุผลมากๆ ถ้าเราจะลงทุนเพียงเพราะ "เชื่อ" ราคาหุ้นในอดีต
ถ้างั้นคำถามคือ ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายถูก ?
เรามาจับประเด็นของแต่ละแนวทางก่อนดีกว่า การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (หรือการถือยาวก็แล้วแต่) นั้นจะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า "มูลค่าที่แท้จริง" หรือมีราคาที่สมเหตุสมผลกับผลกำไรที่กิจการอาจทำได้ในอนาคต นี่คือการลงทุนในมุมมองของการร่วมทำธุรกิจ
ส่วนด้านของเทคนิคอลนั้นจะลงทุน (หรือเก็งกำไร) โดยมีความเชื่อที่ว่าราคาหุ้นสามารถขึ้นไปได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมี "สัญญาณบางอย่าง" มาสนับสนุน เช่น ราคาหุ้นยังยืนอยู่เหนือ EMA 10 ได้, ADX ยังไม่อ่อนแรง ฯลฯ นี่คือประเด็นคร่าวๆ ของการลงทุนทั้งสองแบบ
และผมจะใช้กราฟของหุ้นตัวนึงมาเป็นตัวตัดสินว่าใครดีกว่าใครกันแน่ นี่คือกราฟหุ้นของ GENCO
ลองสังเกตในฝั่งซ้ายมือสุดของภาพนะครับ จะเห็นว่าราคาหุ้น GENCO นั้นนอนแน่นิ่งเป็นผักต้มเลย ถ้าเกิดเราไปดูกราฟย้อนหลัง ราคาหุ้นมันก็สาละวนอยู่แถวนั้นไม่ค่อยไปไหนหรอกครับ เพราะหากเราไปดูงบการเงินปีล่าสุดของบริษัท (เอาทั้งสิ้นปี 56 และ 57) กำไรสุทธิที่บริษัททำได้นั้นน้อยลงติดต่อกันถึงสองปี จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นจะไม่ไปไหน
แต่อยู่ดีๆ พอช่วงประมาณเดือนตุลาคม ราคาหุ้น GENCO ได้ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา และราคาก็สามารถยืนอยู่เหนือเส้น EMA30 ได้อย่างสวยงาม (เส้นสีฟ้าๆ ที่อยู่ในกราฟ) ทั้งที่ในตอนนั้นก็ยังไม่มีข่าวอะไรออกมาด้วย
หลังจากที่ราคาหุ้นขึ้นมาประมาณเกือบเท่าตัว หุ้นก็เริ่มจะออกข้าง แต่ ! พอถึงเดือนธันวาคมปุ๊ป ราคาหุ้นก็เริ่ม "พุ่งทะยาน" อีกครั้ง จนขึ้นไปได้สูงสุดถึง 6 บาทกว่าๆ ขึ้นมาถึงประมาณ 500% ในเวลาแค่ไม่กี่เดือนเอง และตอนนี้ข่าวที่ว่าบริษัทกำลังสนใจทำโรงไฟฟ้าก็เริ่มออกมา (ใครๆ ก็ชอบไฟฟ้าสินะ) รวมถึงบทวิเคราะห์เชียร์ซื้ออีกมากมาย
หุ้น GENCO เองถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของหุ้นที่ "ขึ้นเพราะเทคนิคก่อน แล้วข่าวพื้นฐานค่อยตามมา" แต่ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกันนะครับ ทันทีที่ข่าวดีออก ราคาหุ้นก็ค่อยๆ ซึมลงอย่างช้าๆ ยังกะคำสาปอย่างนั้นแหละ :P
นอกเรื่องไปซะเยอะ คราวนี้มาดูหุ้นอีกตัวที่ "พื้นฐานมาก่อน แล้วเทคนิคค่อยตามมา" กันดีกว่า ซึ่งหุ้นที่ผมเอามาให้ดูนั้นคือหุ้นในตำนานที่ชื่อว่า TFD
ทำไมผมถึงเรียกว่าหุ้นในตำนาน ? ลองดูราคามันซะก่อนสิครับ ราคาพุ่งจากประมาณ 3 บาทไป 16 บาทในเวลาแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น ! ซึ่งสำหรับหุ้น TFD ก่อนที่จะขึ้นไปได้ซะขนาดนี้มันมีสาเหตุมาจาก "งบการเงิน" ครับ
หากเราไปย้อนดูงบกำไรขาดทุนของปี 2011 จะเห็นว่าบริษัทมีกำไรสุทธิประมาณ 147 ล้านบาท แต่พอเข้าไปดูงบของแต่ละไตรมาสในปี 2012 เท่านั้นแหละ โห แค่งบไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 กำไรที่บริษัททำได้ก็มากกว่าปี 2011 ทั้งปีแล้ว จะไม่ให้หุ้นขึ้นได้ยังไง
เราจะเห็นว่าสัญญาณทางเทคนิคนั้นเริ่มมาตอนช่วงเดือนธันวาคม ที่ราคาหุ้นสามารถยืนอยู่เหนือเส้น EMA 30 ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นงบการเงินเริ่มสะท้อนอะไรดีๆ ออกมาบ้างแล้ว ดังนั้นหุ้น TFD จึงเป็นอีกหุ้นนึงที่เขาทำนอง "พื้นฐานมาก่อน แล้วกราฟตามมาทีหลัง"
และเช่นเคยครับ ทันทีที่งบปี 2012 ออกว่ามีกำไรถึง 500 กว่าล้าน ราคาหุ้นก็ไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลแถวนั้นแหละ หลังจากนั้นก็ร่วงลงมาแบบไม่เหลือซากเลย
ที่ผมยกกรณีศึกษาของหุ้นทั้งสองตัวมาให้เห็น สิ่งที่อยากจะบอกคือ ทั้งพื้นฐานและเทคนิคมันก็ "ดีทั้งคู่" แหละครับ ! ในบางครั้งพื้นฐานอาจนำเทคนิค หรือเทคนิคอาจนำพื้นฐานก็ได้ เราจะไปเถียงทำไมว่าใครดีกว่าใคร
อย่างตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็เคยเป็น "นักลงทุนสายพื้นฐาน" คนนึงที่เกลียดเทคนิคอลเข้าไส้ และมองว่ามันคือการเก็งกำไรอันแสนโง่เขลา (ผมมองอย่างนั้นจริงๆ นะ) แต่หลังจากที่ได้ศึกษาเรื่องกราฟอย่างจริงจัง ไปๆ มาๆ ตอนนี้ผมกลับทำเงินได้มากกว่าตอนใช้พื้นฐานอย่างเดียวซะอีก แถมมีความสุขมากกว่าด้วย
วิธีการลงทุนที่ดีที่สุดมันไม่มีหรอกครับ มีแต่ที่มันเหมาะกับเราที่สุดก็แค่นั้นเอง ไม่มีอะไรผิดถูก ขอแค่ลงทุนอย่างมีความสุข + มีกำไร นั่นก็คือการลงทุนที่เจ๋งที่สุดในโลกแล้ว !
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น