16 พฤษภาคม 2559

หากกองทุนที่ดีที่สุดในโลก คือกองทุนดัชนี

คุณจะเชื่อตามชื่อของบทความนี้หรือไม่ หากคนที่พูดประโยคข้างต้นนี้เป็นลุงแก่ๆ คนนึงที่อายุเกือบครบรอบ 9 ทศวรรษ พักอาศัยอยู่ในบ้านที่เล็กมากเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่มีฐานะใกล้เคียงกัน ขับรถมือสอง แถมวันๆ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไรนอกจากเล่นเกมไพ่กับเนิร์ดคอมพิวเตอร์อีกคนหนึ่ง มันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่เลยที่เขาจะบอกว่ากองทุนดัชนีจะสามารถชนะผู้จัดการกองทุนระดับพระกาฬแทบทั้งหมดได้ 


แต่ลืมบอกไป ชายคนนั้นเกิดวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1930 และเขาชื่อวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่สำคัญเค้าไม่ได้บ้า สติสัมปชัญญะครบถ้วน รวยอีกด้วยนะ คำถามครับ คุณผู้อ่านจะยังเชื่อสิ่งที่เขาบอกอยู่รึเปล่า



สำหรับกองทุนรวมอิงดัชนี (Index Fund) ความหมายแบบง่ายที่สุดก็คือ เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นทุกตัวของตลาดหรือดัชนีนั้นๆ ตัวอย่างเช่นกองทุนรวมอิงดัชนี SET50  ก็แปลว่ามีเงินเข้ามากี่บาทก็แล้วแต่ ใส่มันไปในหุ้นทุกตัวของ SET50 ซะเลย แถมค่าธรรมเนียมต่ำมากครับ บางแห่งปีนึงเก็บไม่ถึง 0.20% ด้วยซ้ำ ซื้อด้วยเงินแค่ 1,000 - 2,000 บาทก็ยังได้ เหมือนใช้เงินนิดเดียวซื้อหุ้นทั้งกระดานยังงั้นเลยล่ะ


ข้อดีของกองทุนชนิดนี้ ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยก็คือมันไม่มีทางแพ้ตลาดเด็ดขาด และก็จะไม่มีวันชนะตลาดเช่นกัน เพราะมันล้อไปกับดัชนีที่มันลงทุนทุกปีครับ แต่เอ๊ะ พิมพ์มาถึงตรงนี้แล้วมันยิ่งไม่ Make Sense เท่าไหร่ ในเมื่อกองทุนอื่นๆ ผู้จัดการกองทุนต่างก็มีความรู้และความสามารถทั้งนั้น กว่าจะสอบเอย ได้ใบอนุญาตเอย เพราะอะไรกองทุนดัชนีที่ลงทุนแบบสิ้นคิดขนาดนี้ จึงเป็นสิ่งที่บัฟเฟตต์แนะนำ 


ช่วงต้นเดือนมกราคม ผมโชคดีมากที่ได้เข้าฟังสัมมนาอันนึง ซึ่งชื่อหัวข้ออะไรนั้นช่างมันก่อน (เพราะผมลืมไปแล้ว) แต่วิทยากรที่ขึ้นมาพูดนั้นเป็นถึงผู้จัดการกองทุนเลยทีเดียว ท่านชื่อ "ดร.สมจินต์ ศรไพศาล" ครับ และสาระสำคัญที่ท่านอธิบายนั้น ถูกบอกเล่าด้วยภาพง่ายๆ ภาพนี้



กราฟรูปนี้เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ DCA ในกองทุนดัชนีครับ (ออมทุกเดือนติดๆ กัน) ท่านดร.สมจินต์ได้อธิบายไว้ว่า หากสมมติปีแรกที่เราออม (คือกราฟแท่งซ้ายมือสุด) เป็นปีที่หุ้นคึกคัก ผลตอบแทนเราก็จะสูงมาก แต่ถ้าปีนั้นเป็นปีเผาจริงของตลาดหุ้น เราก็จะโดนเผาจนไหม้เกรียมเช่นกัน เห็นได้จากแท่งกราฟที่ใหญ่และกว้างกว่าแท่งอื่นๆ ผลตอบแทนสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นได้ก็สูงลิ่ว แต่ผลตอบแทนต่ำสุดก็ติดลบแบบดิ่งนรกได้เหมือนกัน


แท่งต่อมา คือผลตอบแทนจากการออมเงินในกองทุนดัชนีเป็นเวลา 5 ปี เราจะเห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยที่อาจเกิดขึ้นมันต่ำลงครับ แต่การขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นมันก็ต่ำลงด้วย 


และสุดท้าย ไล่ไปจนถึงแท่งกราฟของปีที่ 30 ออมกองทุนติดต่อกันจนลูกบวชและมีหลานมาอีกหนึ่งคน สิ่งที่กราฟมันบอกก็คือผลตอบแทนต่ำกว่าแท่งอื่นพอสมควร แต่ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนต่ำสุดที่อาจเกิดขึ้นได้มันอยู่ในโซนที่เป็นกำไร ! นี่สิประเด็นที่น่าสนใจ เพราะค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนต่ำสุดและสูงสุดที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อออมกองทุนติดต่อกันเป็นเวลา 30 ปี คือประมาณ 7-11% ต่อปี


ฟังดูน้อย แต่ลองคำนวณดูเล่นๆ ด้วยแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Ez Calculator ได้เลยครับ หากออมกองทุนอิงดัชนีติดต่อกันทุกเดือนเป็นเวลา 30 ปี สมมติผมออมแค่เดือนละ 2,000 บาทเท่านั้น ด้วยผลตอบแทนแบบต่ำสุดที่อาจเกิดขึ้นคือ 7% ต่อปี เงินก็ยังโตขึ้นเป็น 2.37 ล้านบาทได้แบบไม่น่าเชื่อ ทั้งที่เงินต้นก็มีแค่ 722,000 บาทเท่านั้นเอง และเงินจะยิ่งโตไปอีกจนแตะระดับ 5.1 ล้านบาทได้ หากผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 11%


ด้วยเหตุนี้เองครับ บัฟเฟตต์จึงกล้าที่จะแนะนำนักลงทุนและคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ลงทุนเป็นกิจวัตร ว่าสินทรัพย์ที่ควรเอาเงินไปใส่มากที่สุดมันก็คือกองทุนดัชนีนั่นแหละ ไม่ต้องไขว่คว้าหาสูตรเทพอะไรให้มากมาย จุดสำคัญมันอยู่ที่เวลานั่นเองครับ ยิ่งออมนาน ผลตอบแทนที่อิงตามค่าเฉลี่ยมันก็จะยิ่งปรากฎให้เห็นชัดเจนมากขึ้น แถมเรื่องที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ค่าธรรมเนียมมันโคตรจะต่ำเลย


มีเรื่องเล่าขำๆ ที่ผมได้อ่านมาจากแฟนเพจ Club VI เกี่ยวกับเรื่องของประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire Hataway รอบล่าสุด บัฟเฟตต์ได้พูดถึงประเด็นกองทุนอิงดัชนีเหมือนกันครับ ประมาณว่าเมื่อราวปี 2007 บัฟเฟตต์เองได้ประกาศถึงความคิดของเขาว่า "เฮ้ กองทุนดัชนีนี่แหละพ่อทุกสถาบัน" (ปู่ไม่ได้พูดไว้ แต่ความหมายประมาณนี้เอง) พร้อมกับประกาศท้าทายผู้จัดการกองทุนมืออาชีพทั้งหลายให้มาแข่งทำผลตอบแทนกับกองทุนอิงดัชนี S&P500 ใครแพ้จ่าย $1 ล้านให้กับองค์กรการกุศล 


ตอนแรกก็ไม่มีใครกล้ารับคำท้าหรอกครับ (แหม ใครจะกล้า) แต่สุดท้ายก็มีผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์คนนึงยอมรับในคำท้าของบัฟเฟตต์


และนี่คือผลตอบแทนระหว่าง S&P 500 Vs ผู้จัดการกองทุนผู้น่ารักคนนั้น




ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ากองทุนอิงดัชนีจะสามารถชนะหัวกะทิแห่งวอลล์สตรีทคนนั้นได้ จริงอยู่ที่มันอาจจะฟลุ๊คพอสมควร เพราะดัชนี S&P 500 วิ่งเป็นผีบ้าเลยหลังจากเกิดวิกฤติปี 2008  แต่สิ่งที่ปู่จะชี้ให้เห็นก็คือ คนธรรมดาก็สามารถลงทุนและประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ต้องพึ่งท่ายากหรือพึ่งกองทุนที่คิดค่าธรรมเนียมแพงๆ ด้วยซ้ำไป


สำหรับท่านที่ลงทุนอยู่ ผมคงมิบังอาจบอกให้เลิกลงทุนแล้วเอาเงินไปใส่ใน Index Fund ทั้งหมด แต่การออมเงินในกองทุนอิงดัชนีบ้างก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันเห็นผลช้าจริงครับ โคตรช้าเลยด้วย แต่นี่มันเป็นเกมแบบระยะยาวมากๆ ผมว่าผ่านไป 30 ปีแล้วเจอเงินสัก 10 ล้านเพิ่มมาในกระเป๋า มันก็เป็นอะไรที่น่าดีใจอยู่นะ


อย่างน้อยๆ แบ่งให้ผมสักล้านนึงก็ยังดี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น