7 กันยายน 2558

เมื่อการมีเงินล้านไม่ใช่คำตอบ

เราจะสังเกตเห็นว่าปัจจุบันมีคนจำนวนมากมายที่เอาจริงเอาจังกับความร่ำรวยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน บางคนอาจต้องการสร้างเงินล้านก่อนอายุ 30  หรือบางคนอาจต้องการอิสรภาพทางการเงินก่อนอายุ 35  และลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น 

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ดีครับ อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่าคนเริ่มมอง "ด้านบวก" ของความรวยมากขึ้น และยิ่งน่าดีใจมากขึ้นไปอีกเมื่อเราพบว่าจำนวนคนที่เป็น "เศรษฐีเงินล้าน" ตั้งแต่อายุยังน้อยมีมากขึ้นทุกที บางคนทำได้ตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ




ดูแล้วไม่มีอะไรจะน่าห่วงเท่าไหร่ เพราะการที่คนๆ นึงทำเงินได้มาก มันก็คล้ายกับการรับประกันไปในตัวแล้วว่าคนนี้จะไม่อดตายและสามารถหาเงินได้อีกในอนาคต ดีไม่ดีคนที่เรารู้จักอาจกลายเป็น Top 5 ของเศรษฐีเมืองไทยก็ได้

แต่มันมีเรื่องที่น่าคิดอยู่อย่างนึงนะ เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนที่มีเงินล้านในวันนี้ จะสามารถรักษาเงินจำนวนนั้นได้ในระยะยาว.. ไม่สิ เราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาคนนั้น "เจ๋งจริง" ที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้นได้


เราประเมินใครสักคนยังไงบ้างว่าเขาคือคนรวย ? ในหลายๆ ครั้ง สิ่งที่คนมองมากที่สุดนั้นอาจเป็นเพียงแค่เปลือกนอก เช่น รถที่เขาขับ ไลฟ์สไตล์ที่เขาใช้ชีวิต หรือแม้แต่จำนวนบัตรเครดิตที่มี ซึ่งแน่นอน เราต่างก็รู้อยู่แล้วว่ามันใช้วัดอะไรในสมัยนี้ไม่ได้ ตัดข้อนี้ทิ้งไปได้เลย

แต่ถ้ามองปัจจัยอื่นอย่างเช่น.. จำนวนเงินที่เขาหาได้ล่ะ ? สมมติผมทำเงินได้ปีละ 5 ล้านบาทตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปี 2  คุณผู้อ่านคิดว่าผมเป็นคนที่รวยและประสบความสำเร็จรึยัง

เมื่อก่อนผมก็เชื่อในความคิดที่ว่า "รายได้" จะเป็นตัวบ่งบอกถึง "งบดุล" ในชีวิตของคนๆ นั้น จึงไม่แปลกเลยที่ผมจะรู้สึกทึ่งอยู่เสมอเมื่อเห็นใครสักคนนึงมีรายได้สักปีละ 100 ล้านบาท หรือถ้าใกล้ตัวหน่อยก็คือ แค่เพื่อนผมที่รุ่นราวคราวเดียวกันทำเงินได้ปีละล้าน มันก็ทำให้ผมอ้าปากค้างและเชื่ออย่างสนิทใจว่าเขาคนนั้นจะต้องเป็น Millionaire Next Door แน่ๆ




จนกระทั่งผมได้ไปงาน Meeting เล็กๆ กับเซียนหุ้น 4-5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นรุ่นพี่ที่ผมเคารพมากๆ เขาได้เล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ที่สามารถหาเงินล้านได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ (คำว่าช่วงนั้นคงราวๆ 20 กว่าปีที่แล้ว เงินล้านจึงไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย) และทุกคน (รวมถึงตัวพี่เขาด้วย) ต่างก็เชื่อเหมือนกันว่าเขาจะต้องร่ำรวยอย่างมากในอนาคต แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ เพื่อนคนนั้นก็คือคนที่ทำงานเช้าเย็นๆ เหมือนคนทั่วไป ขณะที่รุ่นพี่ของผมซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงคนธรรมดา ในตอนนี้ได้กลายเป็นเศรษฐีไปซะแล้ว

นั่นก็แปลว่า รายได้ไม่ใช่ตัวแปรเพียงอย่างเดียวที่ทำให้สมการที่เรียกว่า "ความรวย" นั้นสมบูรณ์ มันยังขาดตัวแปรอีกถึง 3 ตัวที่จะทำให้คนรวยได้

นักลงทุนอีกท่านที่ผมเคารพและใครๆ ต่างก็รู้จัก ในฐานะนักลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานที่ประสบความสำเร็จ "พี่นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์"  ได้เล่าให้ผมฟังถึงองค์ประกอบ 4 อย่างของคนที่จะรวยได้ ซึ่งมีดังนี้ครับ

"หาเงินเก่ง เก็บเงินอยู่ บริหารเงินเป็น ลงทุนให้งอกเงย"

ถ้าพูดตรงๆ ก็คือมันฟังดูเรียบง่ายจนน่าเบื่อไปเลย แต่พี่นิ้วโป้งเองก็ได้กล่าวเสริมว่า เพราะอย่างนี้ล่ะถึงมีไม่กี่คนที่รวย ทุกคนรู้หมดว่ามันต้องทำยังไง เพียงแต่ไม่มีใครทำก็เท่านั้น

ซึ่งก็เท่ากับว่า การที่เรามองเห็นใครสักคนทำเงินได้มาก มันก็เป็นเพียง 1 ใน 4 ข้อของคาถาแห่งความรวยเท่านั้น จากตัวอย่างเดิม แม้ผมจะทำเงินได้ถึงปีละห้าล้าน แต่ถ้าทุกๆ เดือนผมมีค่าใช้จ่ายสักเดือนละล้าน แค่ครึ่งปีผมก็เป็นเศรษฐีข้างถนนได้แล้ว



กลับกันครับ แม้คุณผู้อ่านจะมีรายได้น้อยกว่าเศรษฐีข้างถนนจากตัวอย่างข้างบน แต่ถ้ามีการจัดสรรที่ดีพอ แบ่งใช้ แบ่งเก็บ แบ่งลงทุน ยังไงสักวันมันก็ต้องรวย ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความจริงจังแค่ไหนเท่านั้นเอง

หาเงินเก่ง เก็บเงินอยู่ บริหารเงินเป็น ผมว่านี่อาจเป็น "สูตรสำเร็จ" เพียงอย่างเดียวที่ใช้ได้ตลอดกาลก็ได้นะ.. อยู่ที่ว่าเราจะเต็มใจทำมันรึเปล่า ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น