ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนนิยามกฎ 80:20 แล้วนำมาใช้กับอะไรที่มัน Sensitive อย่างตลาดหุ้น เพราะนั่นแปลว่าในคน 100 คนที่เข้ามาเทรด จะมีเพียง 20 คนเท่านั้นที่กำไร ส่วนอีก 80 คนต้องขาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้
เผลอๆ ตอนนี้ยิ่งแล้วใหญ่ คนเล่นหุ้น 100 คน จะมี 80 คนที่เจ๊ง 15 คนที่กำไรนิดหน่อย แต่มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่สามารถลงทุนจนร่ำรวย ความจริงมันก็โหดร้ายอย่างนี้แหละ
ในเมื่อเราก็รู้แล้วว่าคนส่วนใหญ่ต้องเป็นหมูถูกเชือด ถ้าอย่างนั้นเราจะลงทุนไปทำไมกัน ฝากเงินเหมือนเดิมไม่ดีกว่าเหรอ ?
ใช่ครับ ไม่มีใครบอกว่าออมเงินแล้วจะจน เผลอๆ จะรวยกว่าคนที่ลงทุนเพียงอย่างเดียวด้วยซ้ำ !
แต่เรื่องแบบนี้มันต้องมีที่มา ผมถามก่อนว่าถ้าเราอยากรวยด้วยการลงทุนหุ้น (หรือจากการทำอะไรก็แล้วแต่) เราต้องทำยังไง ก็.. แค่ทำเงินมากๆ ก็น่าจะจบ จริงมั้ยครับ ?
แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่สักนิดเลย การที่เราหาเงินได้มากไม่ได้หมายความว่าเราจะพูดว่ารวยได้อย่างเต็มปาก สมมติเล่นๆ ว่าเรามีพอร์ตหุ้นพันล้าน แล้วอยู่มาวันนึงบังเอิญต้องใช้เงิน 20 ล้านกะทันหันและต้องภายในวันนั้นด้วย คำถามคือ Asset ที่มีพันล้านมันมีความหมายรึเปล่า ? ก็ไม่มีเลย
เพราะทั้งหมดนี้มันมาจากสาเหตุเดียว คือขาดการวางแผนการเงินที่พอ
เมื่อก่อนผมเองก็ไม่เคยเห็นความสำคัญของ Financial Planing เหมือนกันครับ จนกระทั่งได้เข้าคอร์สสัมมนาการวางแผนสู่ความมั่งคั่ง (วิทยากรคือพี่หมง มงคล ลุสัมฤทธิ์) ผมเลยถึงบางอ้อว่า อ๋อ ที่เราต้องคอยมานั่งคิดเรื่องแผนทางการเงิน ไม่ใช่เพื่อให้เรารวยขึ้น แต่เพื่อป้องกันทุกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งหุ้นตก, เงินขาดมือ, ตกงานกะทันหัน, หรือแม้กระทั่งเราตายก่อนวัยอันควร เพราะถ้าเตรียมพร้อมมาเป็นอย่างดี ต่อให้เกิดอะไรขึ้น เราก็จะสามารถผ่านพ้นทุกสถานการณ์ไปได้
ในขณะเดียวกัน หากเราเทียบกับคนที่ลงทุนหรือทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว ต่อให้มีกระแสเงินสดไหลเข้ามาปีละ 100 ล้าน แต่หากปราศจากการวางแผนทางการเงิน เอารายได้ทั้งหมดไปลงทุน ไม่มีเก็บออมแม้แต่น้อย เมื่อถึงจุดนึงที่จำเป็นต้องใช้เงินกะทันหัน หรือร้ายกว่านั้นคือไม่มีความสามารถพอที่จะทำเงินได้เหมือนเดิม มันก็ถังแตกได้เหมือนกัน
ผมเองมีโอกาสได้คุยกับผู้มั่งมีหลายคน ทั้งหมดก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าการออมเงินหรือการวางแผนทางการเงินทั้งหลายเนี่ย ผลตอบแทนมันสู้การลงทุนด้วยตัวเค้าเองไม่ได้เลย (ต่างกันราวกับฟ้ากับเหว) แต่ที่เค้าทำก็เพื่อความสบายใจ อย่างน้อยๆ เราก็มั่นใจได้ว่าถึงจะเป็นอะไรไปก็ตาม คนที่อยู่รอบตัวเราก็จะไม่เดือดร้อนไปด้วย
เน้นที่คำว่า "สบายใจ" เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราลงทุนโดยไม่ต้องมีอะไรมากดดัน ผมเองคิดว่าประสิทธิภาพในการลงทุนของเราจะดีขึ้นนะครับ ลองเรามีอะไรมากดดันสิ เช่นเงินก้อนนี้คือเงินสินสอด ดีไม่ดีเราอาจขาดทุน 50% ในเวลาเดือนเดียวก็ได้
ด้วยเหตุผลนี้แหละ เลยทำให้คนที่ออมเงิน (และลงทุนไปด้วย) รวยกว่าคนที่ลงทุนเพียงอย่างเดียว... โดยเฉพาะตอนหุ้นตกหรือเพิ่งขาดทุนมาหมาดๆ คนที่มีเงินเก็บมัน "ลั่นล้า" ได้มากกว่าคนที่ไม่มีเงินออมเยอะ :P
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น