อืม.. งั้นแสดงว่าหุ้นราคา 10 บาท ย่อมมีราคาถูกกว่าหุ้นราคา 2,000 บาทรึเปล่า ?
แหม่ ถ้ามันง่ายแบบนั้นจริงๆ ในตลาดหุ้นคงมีแต่คนที่ได้กำไร โดยส่วนใหญ่แล้ว ในการดูหุ้นสักตัวว่ามันราคาถูกหรือแพง จะนิยมดูอัตราส่วนตัวนึงที่เราเรียกว่า PE
อะไรคือ PE ? มันคือตัวเลขตัวนึงครับที่เกิดจากการเอาราคา (Price) มาหารด้วยกำไรต่อหุ้น (Earnings per Share หรือ EPS)* โดยค่าที่คำนวณได้จะมีหน่วยเป็นเท่า
เช่น หุ้นบริษัทถุงยางแห่งนึงมีราคา 100 บาท และมีกำไรต่อหุ้นที่ 10 บาท PE จึงเท่ากับ 100/10 = 10 เท่า
ส่วนการนำไปใช้ในการวัดว่าหุ้นตัวนั้นถูกหรือแพงกว่ากันก็ง่ายๆ ครับ จากตัวอย่างเดิม หุ้นตัวนึงราคา 10 บาทแต่มี EPS 0.10 บาท ในขณะที่หุ้นราคา 2,000 บาท มี EPS ถึง 250 บาท
PE หุ้นตัวแรก = 10/0.1 = 100 เท่า
PE หุ้นตัวที่สอง = 2,000/250 = 8 เท่า
และเมื่อคำนวณเสร็จ เราจะเห็นว่าค่า PE ของหุ้นตัวละ 2,000 กลับน้อยกว่าหุ้นตัวละสิบบาท นั่นพอให้เราสรุปได้แบบ "คร่าวๆ" ว่า หุ้นตัวละสองพันมีราคาถูกกว่าหุ้นตัวละสิบบาท
แต่การใช้แบบนี้มีเงื่อนไขครับ หากเราจะเอาพีอีของหุ้นมาเทียบกันควรจะใช้หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยของ PE ไม่เท่ากัน อย่างเช่นในบางอุตสาหกรรม อาจมี PE โดยเฉลี่ยคือ 8 เท่า แต่ในบางอุตสาหกรรมอย่างเช่นโรงพยาบาล กลับมี PE อุตสาหกรรมสูงถึง 25-30 เท่า !!
แต่โดยส่วนตัวที่ผมใช้เอง ผมมักจะเอาพีอีของหุ้นนั้นๆ มาเทียบกับ "PE ตลาด" เพื่อเป็นไกด์ไลน์คร่าวๆ ว่าหุ้นที่เราจะซื้อ มีราคาแพงไปเมื่อเทียบกับตลาดรึเปล่า (สามารถดู PE ตลาดโดยรวมได้ที่หน้าแรกของ settrade.com ครับ อยู่ทางฝั่งขวามือ)
แหม่ (แหม่อีกรอบ) อย่างที่ผมบอกไปครับ ถ้ามันดูง่ายขนาดนั้นทุกคนในตลาดคงรวยไปแล้ว เพราะว่าค่า PE ดูเหมือนจะตายตัว แต่มันดิ้นได้เป็นปลาไหลยิ่งกว่านักการเมืองซะอีก
ผมมีคำถามง่ายๆ ครับ สมมติว่าหุ้นตัวนึงมีราคา 20 บาท และมีกำไรต่อหุ้นที่ 1 บาท ในขณะที่ PE ตลาดโดยรวมอยู่ที่ 16 เท่านั้น เราคิดว่าหุ้นนี้แพงไปรึเปล่า ?
ใจเย็นครับ ! แม้ PE ของมันจะเท่ากับ 20 เท่าก็จริง (20/1) แต่เราลองไปดูงบการเงินของหุ้นนี้ย้อนหลังแบบคร่าวๆ สิ โดยสมมติให้บริษัทนี้มีจำนวนหุ้น 320 ล้านหุ้น
ปี 2552 มีกำไร 130 ล้าน (EPS = 0.41 บาท)
ปี 2553 มีกำไร 180 ล้าน (EPS = 0.56 บาท)
ปี 2554 มีกำไร 270 ล้าน (EPS = 0.75 บาท)
ปี 2555 มีกำไร 300 ล้าน (EPS = 0.94 บาท)
ปี 2556 มีกำไร 320 ล้าน (EPS = 1.00 บาท)
เห็นอะไรมั้ยครับ กำไรมันเพิ่มขึ้นเป็นบ้าเป็นหลังเลย ข้อมูลง่ายๆ นี้ทุกคนในตลาดย่อมรู้กันหมด เมื่อทุกคนรู้ว่ามันกำไรดีขนาดนี้ (แถมโตต่อเนื่อง) จึงไม่แปลกครับที่คนจะแห่ซื้อ
และเมื่อความต้องการซื้อมากกว่าความต้องการขาย ราคาจึงย่อมสูงขึ้นเป็นธรรมดา และถ้างบการเงินของกิจการนี้มีความแข็งแกร่งด้วยแล้ว การที่หุ้นนี้จะมี PE 20 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย
แต่มันถูกหรือแพงล่ะ ? เราลองมาดูงบการเงินคร่าวๆ อีกครั้งนะครับ ในปี 2552 มันมีกำไร 130 ล้าน แต่ผ่านไปแค่ 4 ปี กำไรมันเพิ่มขึ้นเป็น 320 ล้าน
เมื่อคำนวณดูแล้ว เท่ากับว่ากำไรเพิ่มขึ้นในอัตรา 25.26% แบบทบต้นต่อปี
ทีนี้ ผมจะลองเอาตัว 25.26% นี้มาคิดกำไรสุทธิในปีหน้าแบบคร่าวๆ เราจะต้องเอากำไรปีล่าสุดคือ 320 ล้าน มาบวกเพิ่มอีก 25.26% จะได้กำไรสุทธิในปีหน้าคือ 400.83 ล้านบาท เมื่อเอามาหารด้วยจำนวนหุ้น 320 ล้านหุ้น ค่าที่ได้คือกำไรต่อหุ้นซึ่งจะเท่ากับ 1.25 บาทต่อหุ้น
หาได้แล้วยังไงต่อ หากเราเอาราคาหุ้นในตอนนี้คือ 20 บาท มาหารด้วยกำไรในอนาคตที่ราคิดว่ามันจะทำได้ คือ 1.25 บาทต่อหุ้น ดังนั้น ค่า PE ที่เราหาได้เมื่อเทีบบกับกำไรในอนาคตจะเท่ากับ 16 เท่า
อ๊ะๆ ! มันพอดีกับ PE ตลาดเลยนี่นา
เห็นแล้วใช่มั้ยครับ แม้เราอาจจะมองว่า PE หุ้นในตอนนี้ (เมื่อเทียบกับกำไรปีล่าสุด) อาจจะดูแพง แต่หากเราเอามาเทียบกับกำไรในอนาคต ราคาหุ้นอาจจะยังถูกอยู่ก็ได้
(เกือบลืมบอกไปครับว่าค่า PE มีการหาอยู่สองวิธี แบบแรกคือการหาโดยใช้กำไรที่ผ่านมา กับแบบที่สองจะหาโดยใช้กำไรในอนาคตที่เราคาดการณ์ได้)
กลับกัน ในขณะที่หุ้นบางหุ้นอาจจะมีราคาถูกมาก เช่น PE ปัจจุบันเท่ากับ 8 เท่า แต่ถ้าผลกำไรในอดีตมันผันผวนยิ่งกว่าอารมณ์ของผู้หญิง ปีหน้าและปีต่อๆ ไป ผลกำไรอาจลดลงก็ได้
ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ PE ของหุ้นนั้นสูงขึ้นโดยปริยาย และถ้าตลาดรับรู้ว่าบริษัทนี้ถูกให้ราคามากเกินไป ราคาหุ้นอาจจะลดลงก็ได้ในท้ายที่สุด
แต่อย่าลืมครับว่า นี่เป็นเพียงวิธีการคร่าวๆ ในการดูว่าหุ้นนี้ถูกหรือแพงเท่านั้น เพราะบางทีการดูกำไรสุทธิอย่างเดียวอาจยังไม่พอ เราอาจจำเป็นต้องไปดูงบว่าทำไมกำไรมันโต มันโตเพราะลงทุนเพิ่มรึเปล่า หรือเป็นเพราะขายทรัพย์สินบางอย่างจนทำให้มีกำไร งบการเงินมั่นคงดีมั้ย เลขาบริษัทสวยรึเปล่า (อันนี้ไม่น่าใช่นะ) และอื่นๆ อีกมากมาย
เห็นภาพในเฟสบุ๊คแชร์กันสนั่นหวั่นไหวว่าให้เลือกหุ้นเหมือนเลือกแฟน อืม.. ผมว่ามันยิ่งกว่านั้นนะครับ มันคือการหาเมียตะหาก :P ขนาดค่า PE ยังต้องดูขนาดนี้เลย
แต่เพราะเงินที่เราเอามาลงทุน มันคือเงินที่หามาด้วยความเหนื่อยยาก เราคงไม่ลงทุนแบบจิ้มๆ หุ้นเป็นแน่ (:
*การคำนวณค่า PE จริงๆ ตามหนังสือของตลาดหลักทรัพย์ สูตรคือ ราคาปิดของหุ้นสามัญ x ((จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด + หุ้นบุริมสิทธิ์) - จำนวนหุ้นซื้อคืน)) แล้วหารด้วยกำไรสุทธิ 12 เดือนล่าสุด แต่ที่ผมเขียนในบทความเพียงแค่ว่าเอาราคาหารกำไรต่อหุ้นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ และผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณไม่ต่างกันมากนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น