12 มีนาคม 2559

ธรรมชาติของเส้นค่าเฉลี่ย

ไม่มีนักลงทุนคนไหนที่ไม่รู้จักเส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) ต่อให้เป็นนักลงทุนสายปัจจัยพื้นฐานก็ตาม เพราะเจ้าเครื่องมือตัวนี้ นอกจากจะมีคนใช้เป็นจำนวนมาก การทำความเข้าใจในที่มาของเส้นแต่ละเส้นก็ไม่ได้ยากเหมือนเครื่องมือตัวอื่น รวมถึงวิธีการใช้งานแบบคร่าวๆ ก็ไม่ได้ยุ่งยากและซับซ้อนเลย

เพราะคอนเซปของมันก็คือ ถ้าราคาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย มันย่อมมีโอกาสขึ้นมากกว่าลง และยิ่งเส้นค่าเฉลี่ยนั้นมีค่ามากเท่าไหร่ก็ตาม (เช่น คำนวณจากราคาปิดย้อนหลัง 200 วัน) มันก็เป็นอะไรที่ Strong Trend สุดๆ ยากที่ราคาหุ้นจะต่ำลงกว่าเส้นค่าเฉลี่ยนั้นได้

ง่ายมั้ยครับ ? บอกเลยว่าง่ายถ้าเราดูแค่นี้ แต่ในการใช้งานจริง มันดันมีมากกว่านั้นเยอะ


1. เส้นค่าเฉลี่ยไม่ได้แม่นอย่างที่คิด

จริงอยู่ที่ผลการทดสอบระบบการเทรดด้วยเส้นค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียว พบว่าในระยะยาวแล้วอาจได้กำไรสูงถึง 15% ต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ย้ำครับว่าระยะยาว แน่นอนว่าในภาพสั้นๆ การขาดทุนย่อมมีโอกาสเกิดขึ้น ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น การขาดทุนติดต่อกัน 20 ครั้งจากการเทรดด้วยเส้น Moving Average เพียงอย่างเดียวก็เกิดขึ้นได้อยากไม่ยากเย็นนัก



การซื้อขายติดต่อกันบ่อยๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้หากใช้การเทรดแบบตัดขึ้นตัดลง เราคงไม่อยากเจอแบบนี้แน่ๆ เพราะมันคือไซด์เวย์

ต่อให้เราคุมความเสี่ยงที่ 2% ของพอร์ต โดนติดกัน 20 ครั้งก็ลบไปราวๆ 40% แล้วครับ นอกจากจะเสียเงินแล้ว จิตใจเทรดเดอร์ของเรายังถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี และการขาดทุนติดต่อกันรัวๆ มันสามารถทำให้เราเสียศูนย์ได้ง่ายกว่าที่คิด


ซึ่งแท้จริงแล้ว ธรรมชาติของเส้นค่าเฉลี่ย มันเกิดมาเพื่อเป็น "ตัวประกอบ"

ก็ไม่ใช่เพียงแค่เส้นค่าเฉลี่ยเพียงอย่างเดียวหรอกครับ ไม่ว่าจะเป็น MACD, RSI, ADX, หรือแม้กระทั่งดู Volume ก็ไม่สามารถใช้อะไรแบบโดดๆ ได้ เหมือนกินก๋วยเตี๋ยวด้วยตะเกียบข้างเดียว มันกินยากกก อินดิเคเตอร์หลายๆ ตัวโดยเฉพาะ Moving Average จำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้สัญญาณอื่นประกอบด้วย

อย่างผมเองจะใช้เส้นค่าเฉลี่ยควบคู่กับ ADX ครับ นั่นคือหากเส้นค่าเฉลี่ยสองเส้นตัดกัน และ ADX บ่งบอกว่าเทรนด์มีกำลังจริงๆ นั่นล่ะคือจุดที่จะเข้าซื้อ แต่ถ้า ADX ไม่ได้บ่งบอกว่าราคาหุ้นมีกำลังที่จะไปต่อแต่อย่างใด ผมก็ไม่เข้าครับ เพราะมันมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นสัญญาณหลอก



นี่คือจุดที่เกิดสัญญาณซื้อ เส้นค่าเฉลี่ยตัดขึ้นและ ADX ก็ให้สัญญาณเช่นกัน

หรือกระทั่งการใช้งบการเงินมาประกอบกับเส้นค่าเฉลี่ยก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ในกรณีที่นักลงทุนคนไหนต้องการจะกินแบบสุดเทรนด์จริงๆ การที่ราคาหุ้นจะไปได้ขนาดนั้นมันต้องมาจากสองอย่าง นั่นคือ "แรงซื้อ" และ "พื้นฐานที่ดี"  หากราคาหุ้นสามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยได้ (ใช้ TF ในภาพ Week หรือ Month จะค่อนข้างแม่นยำเมื่อต้องประกอบกับการดูงบ) แรงซื้อมันย่อมมา และถ้ามีพื้นฐานที่ดีรองรับ แรงซื้อก็มีโอกาสเข้าเพิ่มอีก เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปเรื่อยๆ พื้นฐานดี ราคาก็พุ่ง พอราคาพุ่ง คนก็เชื่อว่าพื้นฐานดี จนกลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในที่สุด


2. เส้นค่าเฉลี่ยใหญ่แค่ไหนก็มีสัญญาณหลอกได้

เมื่อก่อนผมเองเคยคิดแบบบ้านๆ เหมือนกันว่าเส้น MA200 ย่อมแม่นกว่า MA15  ก็อาจใช่ครับ แต่ไม่ได้ 100% หากลองไปเปิดกราฟย้อนหลังเราจะเจอเยอะแยะกับหุ้นเหล่านี้ที่ขึ้นมาแล้วก็ดันลงต่อแบบงงๆ เพราะอย่างไรซะค่าเฉลี่ยมันก็เป็นเพียงแค่ข้อมูลในอดีต ไม่ได้แปลว่าราคาหุ้นที่ยืนขึ้นเหนือค่าเฉลี่ยย้อนหลังจะต้องวิ่งต่อเสมอไป หากแรงขายมาแบบมหาศาล  MA เส้นไหนก็เอาไม่อยู่ครับ



เส้นค่าเฉลี่ยที่เห็นคือ EMA233 ก็เอาไม่อยู่เช่นกัน

รวมถึงการสลับ Time Frame เพื่อดูเส้นค่าเฉลี่ยด้วย หากว่ากันง่ายๆ เส้น MA15 ในภาพ Month ย่อมมีความแม่นยำกว่าเส้น MA15 ในภาพ Week ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือมันเป็นภาพที่ใหญ่กว่า แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม สัญญาณหลอกก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ เหมือนกับข้อแรกครับ เราควรใช้อินดิเคเตอร์อื่นประกอบด้วย มันจะเพิ่มโอกาสทำกำไรได้อีกมาก


3. เส้นค่าเฉลี่ยที่ใช้กับหุ้นแต่ละประเภท & แต่ละไทม์เฟรม จะไม่เท่ากัน

ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากนักลงทุนสักคนจะใช้เส้น MA34 แบบครอบจักรวาล คือใช้กับหุ้นทุกตัว ทุกไทม์เฟรม ภาพ Day Week หรือ Month ก็ใช้เส้น MA34 รักเดียวใจเดียวไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ! ด้วยธรรมชาติของเส้นค่าเฉลี่ยนั้น ในแต่ละไทม์เฟรมย่อมมีเส้นที่เหมาะสมไม่เหมือนกัน

ผมเองเทรดโดยใช้เส้น EMA15 เป็นหลัก เจ้าเส้นนี้จะเหมาะมากเมื่อใช้กับหุ้นในภาพ Day และ Week แต่ถ้าเป็นภาพที่เล็กลงไปอย่างเช่น แท่งละ 1 ชั่วโมง หรือแท่งละ 15 นาที เส้น EMA15 ก็อาจเป็นง่อยได้ง่ายๆ เลย เพราะยิ่งไทม์เฟรมเล็ก ความผันผวนยิ่งมากขึ้น และมันก็ไม่เหมาะเช่นกันหากใช้กับภาพใหญ่ๆ อย่างภาพ Month เพราะหุ้นหลายๆ ตัวแค่ใช้ EMA5 ก็เอาเป็นสัญญาณซื้อได้แล้ว

อีกอันนึงคือเส้นค่าเฉลี่ยค่าๆ หนึ่ง ไม่ได้เหมาะกับหุ้นทุกประเภทครับ ผมยกตัวอย่างแบบสุดโต่งอย่างหุ้น ABC และ AOT ก็แล้วกัน 


ราคาหุ้นวิ่งอย่างน่ารักน่าชังใน TF Day โดยที่ไม่หลุดเส้น EMA15 แม้แต่น้อย

หุ้น ABC เป็นหุ้นในตำนานที่วิ่งจากราวๆ 0.10 บาทไปเป็น 2 บาทได้ในเวลาไม่นานนัก หากไปเปิดกราฟ จะพบว่าราคาหุ้นวิ่งสวยมาก ไม่หลุดเส้น MA15 ตลอดทางที่วิ่งไป 2 บาท (ในภาพ Day) 



ขณะที่หุ้นใหญ่อย่าง AOT แม้หุ้นจะวิ่งขึ้นจาก 300 มาเป็น 400 บาทอย่างมั่นคง แต่ระหว่างทางนั้นราคาหุ้นหลุดเส้น MA15 ในภาพ Day ไปอย่างหลุดลุ่ยบ่อยมาก แต่ถ้าเราลองปรับจาก TF Day ให้เป็นภาพใหญ่อย่าง Month  จะเห็นว่าราคาหุ้น AOT นั้นสามารถยืนอยู่บนเส้น MA15 ได้ ประมาณว่าพอราคาลงมาโดนเส้นปุ๊ป เด้งขึ้นปั๊ปราวกับมีปาฏิหารย์ 


ในภาพ Month ราคาหุ้น AOT ปรับตัวขึ้นอย่างมั่นคง ไม่มีเดือนไหนที่ราคาปิดต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเลย

ตรงนี้เองมันทำให้ผมได้ข้อสรุปที่ว่า หากเป็นหุ้นตัวไม่ใหญ่นัก การดูภาพ Day หรือ Week ด้วยเส้นค่าเฉลี่ยสั้นๆ ก็สามารถทำเงินได้ แต่ถ้าเป็นหุ้นตัวใหญ่พอควร อาจต้องใช้ภาพ Month ถึงจะสามารถกินคำใหญ่มากๆ ได้ หรีอถ้าใช้ TF เล็ก ก็ต้องปรับเส้นค่าเฉลี่ยให้เป็นเส้นที่ใหญ่กว่าเดิม เช่น MA233 เป็นต้น


สรุปแล้วการเทรดด้วยการใช้เพียงแค่เส้นค่าเฉลี่ย ไม่สามารถทำได้จริงๆ เหรอ ?

ก็ได้ครับ ไม่ผิดอะไรที่เราจะบอกว่า Simple is the best เพราะการแบคเทสจากหลายๆ ที่ต่างก็บอกเหมือนกันว่าวิธีการง่ายๆ อย่างตัดขึ้นซื้อ ตัดลงขาย ก็สามารถทำเงินได้ในระยะยาว 

แต่ปัญหามันอยู่ที่คำว่า "ระยะยาว" นี่เองที่เป็นความเสี่ยง เพราะมันอาจหมายถึงระยะเวลา 15-20 ปีขึ้นไป คำถามง่ายๆ ก็คือเราจะทนต่อการขาดทุนแบบต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนั้น วิธีการเทรดแบบใช้ MA เพียงอย่างเดียวอาจจำเป็นต้องถือหุ้นหลายๆ ตัวในช่วงเวลาเดียวกัน 

ไม่อย่างนั้นหากถือหุ้นน้อยตัวเกินไป มันมีความเสี่ยงสูงมากที่หุ้นทั้งหมดที่เราซื้อจะเป็นสัญญาณหลอก มันก็เหมือนเกมโยนเหรียญแบบง่ายๆ ครับ หากเราโยนสัก 10 ครั้งมันก็มีโอกาสเสียเงินติดกันได้ 

แต่ถ้าเราโยนบ่อยพอและนานพอ เช่นสัก 10,000 ครั้ง (ไม่ต้องทำอะไรกินกันละ) ผลลัพธ์ที่ได้มันก็จะกลับเข้าสู่ตัวเลขทางสถิติอย่างที่มันควรจะเป็น นั่นคือโอกาสออกหัวและก้อยจะเท่ากับ 50:50 แต่ก็นั่นแหละ ต้องโยน 10,000 ครั้งเลยทีเดียว 

เอาเป็นว่าอย่าเล่นท่ายาก เอาอินดิเคเตอร์อื่นๆ มาใช้ประกอบ + ใช้เส้นค่าเฉลี่ยให้เหมาะสมกับหุ้นแต่ละประเภท มันจะทำให้ชีวิตง่ายกว่าเดิมอีกเยอะเลย

1 ความคิดเห็น: